นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการนำคณะผู้แทนไทยเยือนกรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา เมื่อวันที่ 16 – 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเบื้องต้นเกี่ยวกับความคาดหวังต่อการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย – ศรีลังกาว่า ทั้งสองประเทศมั่นใจว่าการจัดทำ FTA ไทย-ศรีลังกา จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมให้การค้าและการลงทุนระหว่างกันขยายตัวมากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนขับเคลื่อนให้มูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นเป็น 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2563 ตามเป้าหมายที่ทั้งสองฝ่ายได้กำหนดไว้ นอกจากนี้ การจัดทำ FTA ระหว่างไทยกับศรีลังกาควรมีกรอบกว้าง ครอบคลุมทั้งเรื่องการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า การเดินทางเยือนศรีลังกาครั้งนี้ ยังได้หารือกับปลัดกระทรวงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาและการค้าระหว่างประเทศของศรีลังกา เรื่องการจัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมเพื่อพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและศรีลังกา เนื่องจากการเจรจา FTA อาจใช้เวลานาน ดังนั้นในระหว่างนี้ ทั้งสองประเทศจึงน่าจะมีความร่วมมือในเรื่องที่มีความสนใจร่วมกัน เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน, การพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร, การประมง, อัญมณีและเครื่องประดับ, การท่องเที่ยว, ความร่วมมือด้านการเงิน, การพัฒนา SMEs, อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในสาขาที่สองฝ่ายมีศักยภาพ
"ทั้งสองฝ่าย ตั้งเป้าให้มีการประกาศเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย – ศรีลังกา และการเริ่มเจรจา FTA ไทย – ศรีลังการอบแรก รวมทั้งการลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ในระหว่างการพบกันของผู้นำระดับสูงของสองประเทศภายในปี 2561" นางอรมนกล่าว
ศรีลังกาเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่มีปัจจัยที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุน เนื่องจากในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2555 – 2559) การขยายตัวทางเศรษฐกิจของศรีลังกามีอัตราเฉลี่ยสูงถึง 6% จึงมีความต้องการสินค้า บริการ และการลงทุนอีกจำนวนมาก อีกทั้งศรีลังกามีนโยบายเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งนักลงทุนสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีที่ศรีลังกามีกับอินเดียและปากีสถานได้
นอกจากนี้ ศรีลังกาได้แสวงหาการลงทุนและร่วมทุนจากต่างชาติในหลายสาขา ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม บริการท่องเที่ยว สถาบันสอนการโรงแรม โรงพยาบาล ยาและเวชภัณฑ์ อสังหาริมทรัพย์ ชา และการออกแบบอัญมณี ขณะที่ศรีลังกาสนใจนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ อาหาร เครื่องใช้ในบ้าน ของตกแต่งบ้าน จึงน่าจะเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในสาขาข้างต้น จะเข้าไปลงทุนเพื่อเปิดตลาดใหม่ในศรีลังกา รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดียตอนใต้ และมัลดีฟส์
ปัจจุบัน ศรีลังกาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้รองจากอินเดีย ปากีสถาน และบังคลาเทศ โดยใน 5 ปีที่ผ่านมา (2556-2560) มีมูลค่าการค้าเฉลี่ย 491 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2560 มีมูลค่าการค้า 513 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.7% จากปี 2559 ทั้งนี้ ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2561 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 159 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในตลาดศรีลังกา อาทิ ปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์เบ็ดเตล็ด อาหารสัตว์เลี้ยง ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม อาหารสำเร็จรูป และเครื่องมือแพทย์ ในส่วนการลงทุนของไทยในศรีลังกา ปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ในสาขาต่างๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น