นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์จำหน่ายสินค้าและแก๊สหุงต้ม รวมถึงอาหารปรุงสำเร็จ ภายหลังจากต้นทุนการผลิตจากราคาแก๊สหุงต้มปรับขึ้นถังละ 42 บาท และค่าขนส่งสินค้าปรับเพิ่มขึ้นอีก 5%ว่า จากการศึกษาของกรมการค้าภายใน พบว่า การปรับขึ้นราคาแก๊สหุงต้มดังกล่าว ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตอาหารปรุงสำเร็จจากราคาแก๊สหุงต้ม เพิ่มขึ้นเพียงจาน/ชามละ 15-20 สตางค์เท่านั้น จึงไม่ใช่เหตุผลที่จะใช้เป็นข้ออ้างปรับขึ้นราคาขายจาน/ชามละ 5 บาท หากประชาชนพบเห็นการปรับขึ้นราคาอาหารจานด่วนอย่างไม่เป็นธรรม ขอให้แจ้งมาที่สายด่วนกรมการค้าภายใน โทร.1569 จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ และหากพบผิดจริง จะดำเนินการตามกฎหมาย โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ในวันพรุ่งนี้ (24 พ.ค.) จะลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์จำหน่ายสินค้า อาหารจานด่วน และในวันที่ 25 พ.ค.นี้จะหารือร่วมกับผู้ผลิตสินค้า (ซัพพลายเออร์) เพื่อสอบถามผลกระทบที่จะได้รับจากการปรับขึ้นค่าขนส่ง และประเมินสถานการณ์เช่นกัน
"จะลงพื้นที่ไปตรวจสอบราคาอาหารปรุงสำเร็จอย่างใกล้ชิด และให้กรมการค้าภายในจัดสายตรวจออกตรวจสอบด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนแจ้งเบาะแสการปรับขึ้นราคามาให้กระทรวงพาณิชย์ด้วย เพราะผลศึกษาพบว่าข้าวกระเพรามีต้นทุนค่าแก๊สที่เพิ่มขึ้น 15-20 สตางค์ ดังนั้น พ่อค้าแม่ค้าก็ไม่น่าได้รับผลกระทบ"รมว.พาณิชย์ กล่าว
สำหรับการปรับขึ้นราคาของน้ำมันดีเซล ซึ่งมีสัดส่วนในต้นทุนของภาคขนส่ง 30-40% นั้น มีผลต่อทำให้ราคาขายปลีกสินค้าปรับขึ้นไม่เกิน 0.5% โดยสินค้าที่มีน้ำหนักมากสุดกระทบ 0.5% และสินค้าที่น้ำหนักน้อยสุดกระทบเพียง 0.003% โดยขณะนี้ ได้ให้กรมการค้าภายในติดตามสถานการณ์ทั้งราคาแก๊สหุงต้ม และค่าขนส่งแล้ว หากผู้ประกอบการจะปรับขึ้นราคา กระทรวงฯจะพิจารณาว่าสอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมมือกับร้านค้าส่งค้าปลีกขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่าย (ซัพพลายเออร์) สินค้าอุปโภค-บริโภค จัดงาน "ค้าส่งรวมใจ โชวห่วยไทยคู่สังคม" ต้อนรับหน้าฝน ครั้งนี้จัดขึ้น 2 ช่วง : ช่วงที่ 1 ระหว่างวันที่ 25 - 30 มิ.ย. 61 และช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 11 - 15 ส.ค. 61 โดยจะมีการลดราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคครั้งใหญ่ 20 - 50% เพื่อบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย พร้อมส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาจับจ่ายใช้สอยในร้านค้าส่ง-ค้าปลีกแบบดั้งเดิมในท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจระดับชุมชนระยะยาว โดยคาดว่าการจัดงานทั้งสองช่วงนี้จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ไม่น้อยกว่า ครั้งละ 500 ล้านบาท