น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (ต.ค.60-เม.ย.61) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน 1,293,908 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 60,598 ล้านบาท หรือ 4.9% เนื่องจากการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ และการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น สูงกว่าประมาณการ 30,444 และ 23,133 ล้านบาท หรือ 36.8% และ 21.5% ตามลำดับ โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ภาษียาสูบ และภาษีเงินได้นิติบุคคล
"ในช่วงที่ผ่านมาการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิยังเป็นไปตามที่กระทรวงการคลังประเมินไว้ สำหรับในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ กระทรวงการคลังจะกำกับดูแลให้การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้" น.ส.กุลยา กล่าว
สำหรับผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
1.กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 899,477 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 6,554 ล้านบาท หรือ 0.7% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 3.7% เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 14,201 และ 1,958 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.0% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 5.9% และ 1.0% ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 2.1% ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 5,947 ล้านบาท หรือ 283.2% สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 324.9% เนื่องจากมีการชำระภาษีเงินได้ปิโตรเลียมย้อนหลัง และผลประกอบการของบริษัทขุดเจาะน้ำมันปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 4,524 ล้านบาท หรือ 2.3% สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 0.8% เนื่องจากภาษีจากกำไรสุทธิ (ภ.ง.ด. 50) ของกลุ่มบริษัทที่มีรอบระยะเวลาบัญชีเป็นปีงบประมาณ และภาษีหัก ณ ที่จ่ายภาคเอกชน (ภ.ง.ด. 53) ขยายตัวดีกว่าที่คาดไว้
2.กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 322,132 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2,289 ล้านบาท หรือ 0.7% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 1.1% โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีน้ำมันฯ ภาษีเบียร์ และภาษีสุราฯ จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 7,388 4,341 และ 2,001 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.9% 9.3% และ 5.5% ตามลำดับ เนื่องจากปริมาณน้ำมัน เบียร์ และสุราที่ชำระภาษีต่ำกว่าที่ประมาณการไว้
อย่างไรก็ดี ภาษียาสูบและภาษีรถยนต์ จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 4,676 และ 4,008 ล้านบาท หรือ 12.7% และ 6.5% ตามลำดับ เนื่องจากภาระภาษีต่อซองของยาสูบหลังจากพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ สูงกว่าที่ประมาณการไว้ และปริมาณรถยนต์ที่ชำระภาษีขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ที่ยังขยายตัวได้ดี
3.กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 63,330 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2,070 ล้านบาท หรือ 3.2% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 5.8% โดยเป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าประมาณการจำนวน 2,343 ล้านบาท หรือ 3.7% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 7.0% เนื่องจากการนำเข้าสินค้าที่ใช้สิทธิพิเศษทางภาษีมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้การจัดเก็บอากรขาเข้าไม่ขยายตัวตามที่ประมาณการไว้ ทั้งนี้มูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ และในรูปเงินบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 ขยายตัว 15.4% และ 6.4% ตามลำดับ สินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าในช่วง 6 เดือนแรกได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) ยานบกและส่วนประกอบ (2) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ (3) เครื่องจักรและเครื่องใช้กล (4) ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม และ (5) พลาสติกและสินค้าจากพลาสติก
4.รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 113,239 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 30,444 ล้านบาท หรือ 36.8% และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 17.6% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำส่งรายได้ของธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์เร็วกว่าที่ประมาณการไว้ (ประมาณการว่าจะนำส่งในเดือนพฤษภาคม 2561) การนำส่งเงินปันผลของ บมจ. ปตท. และ บมจ. ท่าอากาศยานไทยที่สูงกว่าประมาณการเนื่องจากผลประกอบการขยายตัวดีกว่าที่คาดไว้ และจำนวนสลากกินแบ่งรัฐบาลที่พิมพ์สูงกว่าประมาณการ ทำให้การนำส่งรายได้ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลสูงกว่าที่ประมาณการไว้
5.หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 130,543 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 23,133 ล้านบาท หรือ 21.5% และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 19.5% เนื่องจากการรับรู้ส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตร (Premium) เป็นรายได้แผ่นดิน, การส่งคืนเงินกันชดเชยให้แก่ผู้ส่งออกเป็นรายได้แผ่นดินสูงกว่าประมาณการ, การนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz (ใบอนุญาต 4G) ที่สูงกว่าประมาณการ, การนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมย่าน 900 MHz บางส่วนเร็วกว่าที่ประมาณการไว้
สำหรับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 5,509 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 424 ล้านบาท หรือ 8.3% แต่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 6.9% โดยรายได้ด้านที่ราชพัสดุจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ
6.การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 173,002 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 16,899 ล้านบาท หรือ 8.9% ประกอบด้วย การคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 129,549 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 21,051 ล้านบาท หรือ 14.0% และการคืนภาษีอื่น ๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 43,453 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 4,152 ล้านบาท หรือ 10.6%
7.อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 8,636 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,636 ล้านบาท หรือ 43.9%
8.การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 9,564 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 882 ล้านบาท หรือ 8.4%
9.เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 6,474 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 3,566 ล้านบาท หรือ 35.5% เป็นผลจากการปรับลดอัตราเงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออกจาก 0.75% เป็น 0.5% ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นมา
10.การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ งวดที่ 1 - จำนวน 37,137 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 777 ล้านบาท หรือ 2.1%
ส่วนในเดือนเมษายน 2561 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 218,126 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 21,717 ล้านบาท หรือ 11.1% และสูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 17.9% เนื่องจากการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ สูงกว่าประมาณการ 20,276 ล้านบาท หรือ 81.7% และสูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 70.1% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำส่งรายได้ของธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์เร็วขึ้นกว่าที่ประมาณการไว้ (ประมาณการว่าจะนำส่งในเดือนพฤษภาคม 2561) และการนำส่งเงินปันผลของ บมจ. ปตท. สูงกว่าที่ประมาณการไว้เป็นสำคัญ ประกอบกับการจัดเก็บรายได้ของส่วนราชการอื่นสูงกว่าประมาณการ 6,391 ล้านบาท หรือ 38.9% และสูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 42.6% เนื่องจากมีการนำส่งรายได้จากประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมย่าน 900 MHz บางส่วนเร็วกว่าที่ประมาณการไว้ นอกจากนี้ภาษียาสูบจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 2,096 ล้านบาท หรือ 44.7% และสูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 37.0%