นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาทางวิชาการ Symposium Thailand 4.0 เรื่อง "Fintech & Cryptocurrency vs. Law Enforcement" ถึงความท้าทายของภาครัฐในการกำกับดูแลฟินเทค (Fintech) ว่า ระบบฟินเทคได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อภูมิทัศน์ของภาคการเงินใน 4-5 ประเด็นที่สำคัญ กล่าวคือ 1.ทำให้เส้นแบ่งระหว่างผู้ให้บริการทางเงินไม่ชัดเจนเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันมีการแบ่งฟินเทคออกเป็นธุรกรรมย่อยๆ เฉพาะส่วนมากขึ้น เช่น การให้บริการเฉพาะการโอนเงินข้ามแดน, การให้บริการเฉพาะสินเชื่อ เป็นต้น ขณะที่กรอบของกฎหมายยังคงยึดอิงกับองค์กรหรือสถาบันเป็นหลัก
2.ทำให้เส้นแบ่งระหว่างบริการทางการเงินกับบริการอื่นๆ ไม่ชัดเจนเหมือนในอดีต เช่น การเติมเงินผ่านมือถือที่ปัจจุบันสามารถนำไปชำระค่าสินค้าหรือบริการอื่นๆ ได้นอกเหนือจากชำระค่ามือถือเท่านั้น 3.ทำให้เส้นแบ่งพรมแดนของประเทศมีความไม่ชัดเจนในการกำกับดูแลเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ ส่งผลให้อำนาจการกำกับดูแลของหน่วยงานที่กำกับดูแลมีความไม่ชัดเจน และ 4.การเกิดแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่ไม่ใช่รูปแบบของสถาบันเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในภาคการเงิน โดยทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการประสานหรือจับคู่ระหว่างผู้ระดมทุนกับผู้ที่ต้องการจะลงทุน
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อภาคการเงินจากความไม่ชัดเจนต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นนี้ทำให้เป็นความจำเป็นในหลายมิติที่จะต้องมีการกำกับดูแลเทคโนโลยีทางการเงิน เพื่อให้มีการควบคุมดูแลที่ดี และไม่ทำให้เทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ สร้างความเสียหายต่อภาคการเงิน
มิติแรก คือ เสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งระบบการเงินถือว่าเป็นเส้นเลือดสำคัญในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นเสถียรภาพในการชำระเงินจึงมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากที่จะต้องมีการกำกับดูแลอย่างรู้เท่าทัน เพราะไม่เช่นนั้นจะส่งผลเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ 2.การให้ความคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินให้ตรงตามความต้องการ และได้รับการดูแลความเสี่ยงอย่างเพียงพอ 3.การนำธุรกรรมทางการเงินไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย เช่น การฟอกเงิน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลอย่างรู้เท่าทัน
4.ต้องมีกฎเกณฑ์ในการควบคุมดูแลการแลกเปลี่ยนเงิน 5.ฐานภาษีของประเทศอาจได้รับผลกระทบ และเกิดความไม่เท่าเทียมกัน 6.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ 7.การเชื่อมโยงผู้ให้บริการที่หลากหลาย เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน เช่น การมีระบบพร้อมเพย์ และ 8.การรักษาระบบการเงินของประเทศด้วยการสร้างระบบนิเวศน์ให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม
"ในเรื่องของ Fintech นั้น ข้อมูลจะมีความสำคัญมาก ทั้งข้อมูลรายบุคคล ข้อมูลรายธุรกรรม ซึ่งตอนนี้คงไม่ใช่เพียงแค่ flow money เท่านั้น แต่ยังเป็น flow data อีกด้วย การมีกฎหมายที่เข้ามาดูแลเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์จึงเป็นเรื่องสำคัญ" นายวิรไท กล่าว