นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาทางวิชาการ Symposium Thailand 4.0 เรื่อง "Fintech & Cryptocurrency vs. Law Enforcement" ถึงความท้าทายของภาครัฐในการกำกับดูแลฟินเทค (Fintech) ว่า ระบบฟินเทคได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อภูมิทัศน์ของภาคการเงินใน 4-5 ประเด็นที่สำคัญ กล่าวคือ 1.ทำให้เส้นแบ่งระหว่างผู้ให้บริการทางเงินไม่ชัดเจนเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันมีการแบ่งฟินเทคออกเป็นธุรกรรมย่อยๆ เฉพาะส่วนมากขึ้น เช่น การให้บริการเฉพาะการโอนเงินข้ามแดน, การให้บริการเฉพาะสินเชื่อ เป็นต้น ขณะที่กรอบของกฎหมายยังคงยึดอิงกับองค์กรหรือสถาบันเป็นหลัก
2.ทำให้เส้นแบ่งระหว่างบริการทางการเงินกับบริการอื่นๆ ไม่ชัดเจนเหมือนในอดีต เช่น การเติมเงินผ่านมือถือที่ปัจจุบันสามารถนำไปชำระค่าสินค้าหรือบริการอื่นๆ ได้นอกเหนือจากชำระค่ามือถือเท่านั้น 3.ทำให้เส้นแบ่งพรมแดนของประเทศมีความไม่ชัดเจนในการกำกับดูแลเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ ส่งผลให้อำนาจการกำกับดูแลของหน่วยงานที่กำกับดูแลมีความไม่ชัดเจน และ 4.การเกิดแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่ไม่ใช่รูปแบบของสถาบันเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในภาคการเงิน โดยทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการประสานหรือจับคู่ระหว่างผู้ระดมทุนกับผู้ที่ต้องการจะลงทุน
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อภาคการเงินจากความไม่ชัดเจนต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นนี้ทำให้เป็นความจำเป็นในหลายมิติที่จะต้องมีการกำกับดูแลเทคโนโลยีทางการเงิน เพื่อให้มีการควบคุมดูแลที่ดี และไม่ทำให้เทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ สร้างความเสียหายต่อภาคการเงิน
มิติแรก คือ เสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งระบบการเงินถือว่าเป็นเส้นเลือดสำคัญในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นเสถียรภาพในการชำระเงินจึงมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากที่จะต้องมีการกำกับดูแลอย่างรู้เท่าทัน เพราะไม่เช่นนั้นจะส่งผลเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ 2.การให้ความคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินให้ตรงตามความต้องการ และได้รับการดูแลความเสี่ยงอย่างเพียงพอ 3.การนำธุรกรรมทางการเงินไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย เช่น การฟอกเงิน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลอย่างรู้เท่าทัน
4.ต้องมีกฎเกณฑ์ในการควบคุมดูแลการแลกเปลี่ยนเงิน 5.ฐานภาษีของประเทศอาจได้รับผลกระทบ และเกิดความไม่เท่าเทียมกัน 6.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ 7.การเชื่อมโยงผู้ให้บริการที่หลากหลาย เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน เช่น การมีระบบพร้อมเพย์ และ 8.การรักษาระบบการเงินของประเทศด้วยการสร้างระบบนิเวศน์ให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม
"ในเรื่องของ Fintech นั้น ข้อมูลจะมีความสำคัญมาก ทั้งข้อมูลรายบุคคล ข้อมูลรายธุรกรรม ซึ่งตอนนี้คงไม่ใช่เพียงแค่ flow money เท่านั้น แต่ยังเป็น flow data อีกด้วย การมีกฎหมายที่เข้ามาดูแลเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์จึงเป็นเรื่องสำคัญ" นายวิรไท กล่าว
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลถือเป็นการลงทุนที่เป็นตลาดใหม่ หรือเรียกได้ว่าเป็น Startup เป็นเรื่องใหม่ ซึ่งผู้ที่เข้ามาในตลาดนี้จะต้องเป็นระดับแฟนพันธุ์แท้จริงๆ ที่นอกจากจะมีความสนใจแล้ว ยังต้องมีความรู้และความเข้าใจในเทคโนโลยีทางการเงินเป็นอย่างมาก เพราะการจะประสบผลสำเร็จในการลงทุนดังกล่าวหรือไม่นั้นเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ได้ล่วงหน้า เนื่องจากมีตัวอย่างในต่างประเทศที่มีการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลส่วนใหญ่มากกว่า 90% ไม่ประสบผลสำเร็จ ส่วนที่ประสบความสำเร็จอาจมีแค่เพียง 5% ดังนั้นผู้ที่จะเข้ามาเล่นต้องเป็นแฟนพันธุ์แท้ตัวจริง ต้องมีเงินที่พร้อมจะโยนทิ้งได้ และถ้าไม่มีความเข้าใจที่จะเข้าไปเล่นในตลาดนี้ ก็ต้องมั่นใจด้วยว่าจะสามารถกระโดดออกทัน "ตลาดนี้เป็นตลาดของแฟนพันธุ์แท้ ไม่ใช่ตลาดของคนทั่วไปที่ไม่ค่อยมีความรู้จะเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะการระดมทุน หรือการซื้อขายในส่วนนี้จะต้องเข้าใจเทคโนโลยี ต้องเข้าใจว่าทำไมคนถึงมาลงทุน ICO เพราะมันได้ผลตอบแทนสูงมาก เป็นร้อยเป็นพัน % เพราะเป็นการใช้เทคโนโลยีไปทำธุรกิจของ startup ซึ่งเป็นธุรกิจที่ยังไม่เคยมีใครทำ และเป็นธุรกิจที่ไม่มีใครรู้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือเปล่า" นายรพีกล่าว
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมีการออกกฎหมายเพื่อมากำกับดูแลการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล แต่อย่างไรก็ดี การมีกฎหมายดังกล่าวออกมาก็ไม่ใช่เครื่องยืนยันว่าธุรกิจนี้จะไม่มีความเสี่ยงในเรื่องของการลงทุน แต่เป็นเพียงการรับประกันว่าผู้ที่เข้ามาประกอบธุรกิจค้าขายสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นผู้ประกอบการที่ถูกกฎหมาย มีตัวตนจริง ไม่ใช่การทำธุรกิจแชร์ลูกโซ่ หรือทำธุรกิจฟอกเงิน และการมีกฎหมายนี้ก็เพื่อจะได้มีบทลงโทษผู้ที่ทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างไม่ถูกต้อง หรือมีการหลอกลวงประชาชน
ด้านนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า เมื่อ ก.ล.ต.ได้ประกาศหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลการเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่ประชาชน (ICO) ภายใต้ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลออกมาแล้ว ก็จะถือว่าเป็นการเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านของการลงทุนไปสู่อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งคงต้องให้ความสำคัญในการประคับประคองระบบเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ และไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล
นายปรีดี กล่าวว่า การเข้าสู่ยุค Fintech ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่มาก เป็นวิถีชีวิตที่ถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลงโดยเทคโนโลยี ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์จากที่เคยเป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจ แต่ในอนาคตไม่มีใครตอบได้ว่าจะยังเป็นอยู่ต่อไปหรือไม่ เพราะในยุคปัจจุบันนี้การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือมีปริมาณสูงขึ้นอย่างมาก โดยพบว่ามีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านสมาร์ทโฟนสูงถึง 5 เท่าของการทำธุรกรรมผ่านสาขาของธนาคารกสิกรไทย
"ธนาคารที่เคยเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ ก็อาจจะยังเป็นอยู่ต่อไป แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นธนาคารในรูปแบบของตึกหรืออาคารสูงใหญ่หรือไม่ เพราะขณะนี้เราพบว่าจำนวนธุรกรรมบนมือถือ เอาเฉพาะแค่กสิกรไทยมีสูงกว่า 5 เท่าของธุรกรรมที่เกิดขึ้นในสาขา" นายปรีดีกล่าว
พร้อมระบุว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของ Fintech ก็คงต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและระมัดระวัง ดังนั้นจึงเห็นด้วยที่จะมีการออกกฎหมายเพื่อมากำกับดูแลการประกอบธุรกิจและการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งนอกจากจะช่วยส่งเสริมธุรกิจให้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้วยังช่วยปกป้องนักลงทุนหน้าใหม่ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในตลาดนี้ด้วย ซึ่งนักลงทุนในกลุ่มนี้อาจยังไม่มีความรู้ความเข้าใจที่มากพอและอาจจะเกิดความเสียหายจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้
"ในส่วนของภาคธนาคารพาณิชย์ก็ได้เตรียมความพร้อมมาโดยตลอด ตั้งแต่มีฟินเทคขึ้นมา รายได้(ค่าธรรมเนียม) ก็ถูกแบ่งปันไปยังผู้ประกอบการในส่วนต่างๆ รายได้ที่เคยมีก็หายไป ก็ต้องพยายามปรับตัวกันทุกภาคส่วน ทุกองค์กรธุรกิจ กฎหมายที่ออกมาก็จะช่วยเป็นกรอบที่ทำให้ทุกคนได้สามารถดำเนินธุรกิจ หรือปรับตัวภายใต้กรอบที่วางไว้ และสามารถนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ และประชาชนทุกคนได้" นายปรีดีกล่าว
พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงแนวทางการกำกับดูแลคริปโตเคอเรนซี่ (เงินเสมือนจริง) ว่า ยังมีความจำเป็นที่ต้องออกกฏระเบียบควบคุม แต่เนื่องจากเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้ต้องมีการปรับปรุงกฏหมายให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เสมอ
พร้อมทั้งเชื่อว่า เงินเสมือนจริงจะเกิดขึ้นแน่นอนในอีก 10 ปีข้างหน้า เพราะหากมองไปที่โรดแมพในการพัฒนาประเทศไปสู่ยุค 4.0 ในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี AI และ Blockchain จะเกิดขึ้นแน่นอน การใช้ธนบัตรจะลดน้อยลง และพนักงานธนาคารอาจต้องปรับตัวมาเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านการบริการเงินมากกว่าทำงานตามหน้าเคาท์เตอร์ และการติดต่อทางธุรกิจหรือการทำธุรกรรมทางการเงินจะดำเนินการผ่านรูปแบบของออนไลน์มากยิ่งขึ้น