โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมทบทวนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2561 ใหม่ โดยคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มเป็น 4.5% สูงสุดในรอบ 6 ปี จากปัจจุบันคาดขยายตัวที่ 4.2% หลังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกขยายตัว 4.8% เติบโตมากกว่าคาดการณ์
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจัยหนุนมาจากการเร่งลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะในโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทำให้ปีนี้คาดว่าการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวได้สูงกว่า 10% และคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะเติบโตได้เกิน 3% รวมถึงการส่งออกที่ปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้สูงกว่า 8% ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก
ส่วนราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น เชื่อว่าจะไม่เป็นปัจจัยลบที่เข้ามากดดันการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้
"ยอมรับว่าทิศทางราคาน้ำมันหลังจากนี้ ยังมีโอกาสปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยหากดูรายละเอียดในตลาดล่วงหน้า จะพบว่าแนวโน้มราคามีการเพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่ต่อเนื่อง โดยมีโอกาสปรับตัวลดลงได้ในระยะต่อ ๆ ไป ดังนั้นเมื่อมาพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวขึ้น จะมาจากการที่สหรัฐฯ คว่ำบาตประเทศอิหร่าน และการลดกำลังการผลิตน้ำมันของประเทศเวเนซูเอล่า โดยในส่วนนี้ยังไม่ใช่ปัจจัยที่มีผลต่อราคาน้ำมันในระยะยาว และยังมีประเด็นเรื่องการปิดซ่อมบำรุงท่อขนส่งน้ำมันของสหรัฐฯ ที่แม้จะยังมีกำลังการผลิตน้ำมันมาก แต่ก็มีปัญหาในเรื่องดังกล่าวอยู่ ดังนั้นคาดว่าเมื่อการปิดซ่อมบำรุงแล้วเสร็จ ก็จะทำให้มีปริมาณน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันจะมีการปรับตัวลดลงในที่สุด" นางสาวกุลยา กล่าว
ขณะที่ทิศทางค่าเงินบาทในขณะนี้ มีแนวโน้มอ่อนค่ามาใกล้แตะระดับ 32 บาท/ดอลลาร์แล้ว ซึ่งดีกว่าคาดการณ์ปัจจุบันที่ 31.50 บาท/ดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ การเร่งรัดเม็ดเงินลงทุนในโครงการลงทุนต่าง ๆ หากเดินหน้าได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ก็จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ โดยความไม่ล่าช้าของโครงการลงทุนต่าง ๆ จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญ รวมถึงความชัดเจนทางการเมืองก็ยังเป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อการลงทุนของต่างชาติด้วย