นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้กรมฯ ได้ทำการติดตามและทักท้วงการประกาศเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) สินค้า Certain Uncoated Writing/Printing Paper (สินค้ากระดาษสำหรับงานพิมพ์และเขียนชนิดไม่เคลือบ) ของปากีสถาน ที่ได้ประกาศเรียกเก็บอากร AD ในอัตรา 14.25% ของราคา C&F กับสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดจากบราซิล จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่นและไทย ซึ่งกรมฯ ได้หารือกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดและไม่เห็นด้วยกับการเรียกเก็บอากร AD ในอัตราดังกล่าว และได้ทำหนังสือทักท้วงไปยังคณะกรรมาธิการศุลกากรแห่งปากีสถาน (National Tariff Commission – NTC) เพื่อโต้แย้งผลการไต่สวนและขอให้พิจารณาปรับปรุงอัตราอากร AD ใหม่
ทั้งนี้ กรมฯ ได้ให้เหตุผลในการโต้แย้งไปว่า การพิจารณาเรียกเก็บอากร AD จะเรียกเก็บเพิ่มขึ้นได้ เพียงแค่ใช้ขจัดความเสียหายที่เกิดขึ้น และจะเกินกว่าส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดไม่ได้ ซึ่งหมายความว่าการเรียกเก็บอากร AD จะทำได้แค่ขึ้นภาษีเท่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้น จะเก็บมากกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะผิดกฎของความตกลงว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาดขององค์การการค้าโลก (WTO) และขอให้ปากีสถานใช้อัตราอากร AD เพื่อขจัดความเสียหาย ซึ่งมีอัตราอยู่ที่ 1.64% ของราคา C&F และในที่สุดปากีสถานก็ได้พิจารณาตามที่กรมฯ ได้เสนอไป
"การเปลี่ยนแปลงอัตราอากร AD ดังกล่าว ทำให้สินค้าของไทยถูกเรียกเก็บอากร AD ลดลงจาก 14.25% ลงมาอยู่ที่ 1.64% ทำให้ไทยเป็นประเทศที่ถูกเรียกเก็บอากร AD ต่ำสุด เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ส่งผลให้ไทย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกสินค้าดังกล่าวไปปากีสถานรายใหญ่เป็นลำดับที่ 2 ได้เปรียบคู่แข่งขัน เช่น บราซิล ถูกเรียกเก็บ 35.93% จีน 21.90% ญี่ปุ่น 39.10% และอินโดนีเซีย ที่เป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ถูกเก็บที่ 20.66% ส่งผลให้ไทยได้เปรียบทางการแข่งขันและสามารถขยายตลาดได้เพิ่มขึ้น" นายอดุลย์กล่าว