รฟท.คาดรถไฟสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต สร้างเสร็จทันปี 62 ก่อนเปิดบริการ Q3/63 คาดผู้โดยสารแตะ 1 แสนคน/วันภายใน 5 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 25, 2018 14:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน ในฐานะรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คาดว่า โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิตระยะทางรวม 26.3 กม. จะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนพ.ย.62 และคาดจะเปิดให้บริการได้ในเดือน ต.ค.63 หรือในไตรมาส 3/63 โดยจะมีการทดสอบเดินรถ ในมิ.ย.63 และทำการทดสอบ 3 เดือนก่อนเปิดให้บริการ ในส่วนรถไฟที่จะนำมาให้บริการมีจำนวน 103 ตู้ จะเริ่มสั่งผลิตในเดือน ก.ค. 62 กับบริษัทฮิตาชิ (ซึ่งเป็นกลุ่ม Mitsubishi-Hitachi-Sumitomo Consortium (MHSC)ที่เป็นผู้รับจ้างสัญญาที่ 3 โดยบางขบวนจะมี 6 ตู้ และ 4 ตู้ และรถจะทยอยส่งมอบในไตรมาส 2/62

ทั้งนี้คาดว่าการเดินรถปีแรกจะมีจำนวนผู้โดยสารประมาณ 5 หมื่นเที่ยวคน/วัน และหากเพิ่มเป็น 7-8 หมื่นเที่ยวคน/วันจะถึงจุดคุ้มทุน และตามประมาณการณ์คาดว่าในปีที่ 5 จำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มมาเป็น 1.0- 1.2 แสนเที่ยวคน/วัน ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มมีกำไรในปีที่ 6 หรือ ปีที่ 7 ทั้งนี้ รถไฟชานเมืองสายสีแดงสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าเส้นทางอื่นได้หมด ได้แก่ สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีเขียว ซึ่งอนาคตสายสีเขียวก็จะมีส่วนต่อขยายออกไปถึงลำลูกกา ขณะที่เดียวกันสายสีเขียวก็เชื่อมต่อสายสีเหลือง และสีส้ม ส่วนสายสีชมพู เชื่อมสถานีหลักสี่ โดยอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 14-45 บาท/เที่ยว ใกล้เคียงกับรถไฟฟ้าสายอื่น โดยคาดว่าจะมีค่าโดยสารเฉลี่ย 32-34 บาท/คน/วัน

นอกจากนี้ รฟท.เตรียมเสนอโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ได้แก่ รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , ตลิ่งชัน-ศาลายา และ ตลิ่งชัน-ศิริราช รวมมูลค่าเงินลงทุนราว 3-4 หมื่นล้านบาท ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)พิจารณาก่อนนำแสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)

นายวรวุฒิ กล่าวว่า รฟท.เตรียมเสนอคณะกรรมการ รฟท. ในวันที่ 21 มิ.ย.นี้ เพื่ออนุมัติการจัดตั้งบริษัทใหม่ 2 แห่งซึ่ง รฟท.จะเป็นผู้ถือหุ้นรายเดียว บริษัทแรกจะดำเนินธุรกิจบริหารการเดินรถรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยเป็นการใช้บุคคลากรจากบริษัท รถไฟฟ้า รฟฟท. จำกัดที่ปัจจุบันเป็นผู้เดินรถไฟแอร์พอร์ตลิ้งก์และกำลังจะปิดกิจการหลังโอนสิทธิการเดินรถในเอกชนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จากนั้นนำส่งกระทรวงคมนาคมและจะเสนอคณะรัฐมนตรีของบกว่า 3 พันล้านบาท ใช้ในการจัดตั้งบริษัทเดินรถรถไฟชานเมืองสายสีแดง ที่จะรับพนักงานเพิ่มโดยบางส่วนมาจากรถไฟแอร์พอร์ตลิ้งก์ที่มีความชำนาญในการเดินรถแล้ว โดยจะมีการฝึกการเดินรถกับ HANSHIN Railway ซึ่งเป็นบริษัทเดินรถไฟในโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่นในต.ค.62 และจะสรรหาซีอีโอ จากบุคคลภายนอกในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้

และ บริษัทที่สองจะดำเนินธุรกิจบริหารทรัพย์สินของรฟท. ในเชิงพาณิชย์ โดยจะดูแลสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะมีการเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ พื้นที่แปลงเอ จำนวน 32 ไร่ มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท จะเปิดให้เอกชนเข้ามาบริหารพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ คาดว่าจะได้ผู้ชนะประมูลมาบริหารพื้นที่ภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าโดยจะพัฒนาพื้นที่แบบ Mixed Used ไก้แก่ ห้างสรรพสินค้า โรงแรม เป็นต้น โดยขณะนี้กำลังแต่งตั้งคณะกรรมการตามม.35 ของพ.ร.บ.ร่วมทุน เพื่อดำเนินการประมูลโครงการนี้ โดยส่วนนี้จะสร้างสำนักงานรฟท.แห่งใหม่ที่สถานีกลางบางซื่อด้วยซึ่งอยู่ติดกับสำนักงานของบมจ.ปูนซิเมตืไทย (SCC) ทั้งนี้ ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ให้ความสนใจเข้าร่วมประมูล

"การที่รถไฟเข้ามาเดินรถสายสีแดงเอง เป็นจุดเปลี่ยนที่จะช่วยพลิกฟื้นธุรกิจ ซึ่งเราได้ต่อสู้เรื่องนี้มานาน เราเชื่อว่าเมื่อโครงข่ายสมบูรณ์ การเดินรถไฟสายสีแดงจะมีผู้โดยสารได้มากกว่าเป้าหมาย" นายวรวุฒิ กล่าว

ปัจจุบัน รฟท.มีผลขาดทุนกว่าแสนล้านบาทโดยในงวดปี 60 มีผลขาดทุน 1.2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ สถานะการดำเนินการโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงในปัจจุบันตามสัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 เป็นงานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง มีความคืบหน้า 69.31% สัญญาที่ 2 เป็นงานโยธาสำหรับทางรถไฟช่วงบางซื่อ-รังสิต มี 8 สถานี ทางรถไฟยกระดับและทางรถไฟระดับดิน มีควมคืบหน้า 97.94% และ สัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมจัดหาตู้รถไฟ สำหรับช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ความก้าวหน้าคิดเป็น 26.71% ซึ่งจะต้องเร่งงานให้เสร็จทัน

อนึ่ง กิจการร่วมค้าเอสยู (บมจ.ซิโน-ไทยเอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ)เป็นผู้รับจ้างสัญญาที่ 1 , บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) เป็นผู้รับจ้างสัญญาที่ 2 และ กลุ่ม Mitsubishi-Hitachi-Sumitomo Consortium (MHSC)ที่เป็นผู้รับจ้างสัญญาที่ 3

ขณะที่สถานีกลางบางซื่อปัจจุบันมีความคืบหน้าในการก่อสร้าง 49.31% โดยมีรูปแบบการก่อสร้างแบ่งเป็นอาคาร 3 ชั้น และชั้นใต้ดินประกอบด้วย ชั้นใต้ดิน เป็นพื้นที่สำหรับจอดรถประมาณ 1,700 คัน โดยมีโถงเชื่อมต่อจากพื้นที่จอดรถขึ้นไปยังชั้นที่ 1, ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋ว มีโถงพักคอยและรับผู้โดยสาร รวมถึงพื้นที่พาณิชยกรรมและร้านค้าสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน , ชั้นที่ 2 เป็นชานชาลาสำหรับรองรับรถไฟชานเมือง สายสีแดง มี 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกลมี 8 ชานชาลา และ ชั้นที่ 3 เป็นชานชาลาสำหรับรองรับรถไฟขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร เชื่อมภูมิภาค ทั้งหมดมี 10 ชานชาลา แบ่งเป็นสายเหนือ 4 ชานชาลา และสายอีสาน 6 ชานชาลา และยังสามารถรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต และรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน ได้อีก 2 ชานชาลา และมีทางเดินเชื่อมต่อกับสถานีบางซื่อของสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

นายวรวุฒิ กล่าวว่า รฟท.เตรียมนำเสนอคณะกรรมการ รฟท.ในอีก 2-3 เดือนนี้ในการปรับค่าแรกเข้าค่าโดยสารรถไฟชั้นที่ 3 จาก เดิม 2 บาทเป็น 8-10 บาท เนื่องจาก รฟท.มีต้นทุนสูงเกินกว่า 8 บาท/คน มานานแล้ว อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นสูงขณะนี้ไม่ได้กระทบกับค่าโดยสารแต่อย่างใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ