นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลางปีงบประมาณ 2562-2564 และกรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ตามการเสนอของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณ และการก่อหนี้ของหน่วยงานภาครัฐ โดยมุ่งบริหารรายได้และรายจ่ายให้อยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง ได้แก่ การลดภาระด้านรายจ่ายของรัฐบาลที่เป็นรายจ่ายประจำ ตลอดจนสนับสนุนและเร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานรูปแบบใหม่ที่จะลดภาระการลงทุนของรัฐบาล เช่น การร่วมลงทุนของรัฐและเอกชน (PPP), การลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีและการปรับอัตราภาษี เป็นต้น
สำหรับในแผนการคลังระยะปานกลางนี้ ได้มีการประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 61 ไว้ที่ 4.2-4.7% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม การปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก การขยายตัวเร่งขึ้นของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของการลงทุนภาคเอกชน ส่วนในปี 62 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3.9-4.9% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคอุปสงค์ในประเทศ การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ การลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชน ในขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยระยะปานกลางในช่วงปี 63-64 จะขยายตัวได้ตามศักยภาพที่ 3.5-4.5% และยังเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากปี 62 โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงช่วยสนับสนุนการขยายตัวของการส่งออก และการผลิตภาคอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ในส่วนของประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิในปี 61 อยู่ที่ 2.45 ล้านล้านบาท, ปี 62 อยู่ที่ 2.55 ล้านล้านบาท, ปี 63 อยู่ที่ 2.74 ล้านล้านบาท และปี 64 อยู่ที่ 2.77 ล้านล้านบาท โดยตั้งกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายในปี 61 ไว้ที่ 2.9 ล้านล้านบาท, ปี 62 อยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท, ปี 63 อยู่ที่ 3.2 ล้านล้านบาท และปี 64 อยู่ที่ 3.3 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ดุลการคลังในปี 61 ขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท, ปี 62 ขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท, ปี 63 ขาดดุล 4.52 แสนล้านบาท และปี 64 ขาดดุล 5.24 แสนล้านบาท
"กรณีของดุลการคลังที่ขาดดุลเพิ่มขึ้นนั้น จะเป็นแค่ในช่วงแรกๆ แต่พอมีมาตรการของภาครัฐในการลดรายจ่าย และการเพิ่มรายได้ ก็จะช่วยให้ขาดดุลการคลังลดลง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 65 เป็นต้นไป...ในแง่ของรายจ่ายนั้น ถ้าเป็นแผนระยะยาวจะลดลงจากการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี และการลดภาระรายจ่าย ซึ่งเมื่อรายจ่ายระยะยาวลดลง ก็จะสามารถเข้าสู่งบประมาณแบบสมดุลได้" นายณัฐพรระบุ
สำหรับหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP คาดว่า ณ สิ้นปี 61 จะอยู่ที่ 46.2%, สิ้นปี 62 อยู่ที่ 44.1%, สิ้นปี 63 อยู่ที่ 45.9% และสิ้นปี 64 อยู่ที่ 47.35% โดยประเมินว่า ณ สิ้นปี 65 หนี้สาธารณะคงค้างจะอยู่ที่ 49% ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง