นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยในไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.61) มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับจีนมีการขยายตัวสูงขึ้น โดยอยู่ที่ 18,923.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 โดยไทยส่งออกไปจีน 7,200.3 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากจีน 11,723.7 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีการส่งออกไปจีนโดยใช้สิทธิภายใต้ FTA อาเซียน-จีน มูลค่า 3,975.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 84.2% ของมูลค่าการส่งออกของรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ ขณะที่นำเข้าโดยใช้สิทธิ 2,965.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 25.3% ของมูลค่าการนำเข้ารวม
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า จีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าสำคัญเกือบทุกชนิดของไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร สินค้าประเภทวัตถุดิบ และเคมีภัณฑ์ โดยจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ทั้งตลาดส่งออกและนำเข้า ทั้งนี้จากการที่ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน หรือ ACFTA กำหนดให้ไทยและจีนต้องลดภาษีสินค้ากลุ่มสุดท้ายเหลือ 0-5% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าไปจีนเพิ่มมากขึ้น
โดยจากสถิติการส่งออกของไทยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2561 พบว่า ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มสุดท้ายที่จีนลดภาษีให้ไทย เช่น ปลายข้าว แป้งข้าวเจ้า กระปุกเกียร์สำหรับยานยนต์ แผ่นชิ้นไม้อัด กระดาษพิมพ์ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น เป็นมูลค่ารวม 524 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.8% ซึ่งขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด จากที่เคยส่งออกได้ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้ากลุ่มสุดท้ายที่ไทยได้ลดภาษีให้จีนเหลือ 0-5% มากขึ้นเช่นกัน เช่น วงจรอิเล็กทรอนิกส์ แผงไฟ สายเคเบิ้ล ทองแดง หม้อแปลงไฟฟ้า มอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องระบายอากาศ เป็นต้น คิดเป็นมูลค่ารวม 1,471 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 23.5% จากที่เคยนำเข้าในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อไปผลิตสินค้าสำเร็จรูป
"หากผู้ประกอบการหรืออุตสาหกรรมภายในมีข้อกังวลว่าจะมีการทะลักของสินค้านำเข้าจำนวนมาก หรือราคาถูกเข้ามาจนเกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายใน สามารถติดต่อขอคำปรึกษาจากกระทรวงพาณิชย์ได้ เนื่องจากไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) และมาตรการปกป้อง (เซฟการ์ด) กำกับดูแลอยู่" นางอรมน กล่าว