นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ผลการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประจำปี 2560 โดยมีผลขาดทุนรวม 270,688 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลที่เกี่ยวเนื่องกับการตีราคาเงินสำรองระหว่างประเทศเป็นสำคัญ ในขณะที่ต้นทุนจากการดำเนินนโยบายการเงินปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ผลจากการตีราคาเงินสำรองระหว่างประเทศ ตามมาตรฐานบัญชีกำหนดให้ทุกสิ้นปี ต้องตีราคาสินทรัพย์เหล่านี้ในรูปของเงินบาท และ เนื่องจากกว่า 85% ของสินทรัพย์ที่ ธปท. ถืออยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศ ผลจากการตีราคาจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลการดำเนินงานของ ธปท.ผันผวนขึ้นลง ตามอัตราแลกเปลี่ยนในแต่ละช่วง โดยปกติเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวได้ดี ค่าเงินจะมีแนวโน้มแข็งขึ้น ธนาคารกลางก็มักจะขาดทุนจากการตีราคา
แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ค่าเงินอ่อนค่าลง ธนาคารกลางมักจะมีกำไรจากการตีราคา งบการเงินของธนาคารกลางจึงเป็นผลสะท้อนถึงสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมและฐานะการเงินของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ของประเทศ
ณ สิ้นปี 2560 ธปท. มีเงินสำรองระหว่างประเทศ (รวมฐานะการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า) กระจายอยู่ในสกุลเงินต่างๆมูลค่ารวมประมาณ 2.4 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นหนึ่งบาทเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. และ ธปท. มิได้กระจายสกุลเงินและสินทรัพย์ที่ลงทุน ธปท. จะขาดทุนจากการตีราคาทันที 2.4 แสนล้านบาท ในทางตรงกันข้าม ถ้าเงินบาทอ่อนค่าลงหนึ่งบาท ธปท. ก็จะมีกำไรจากการตีราคา 2.4 แสนล้านบาท เมื่อบันทึกบัญชีเป็นเงินบาทโดยในปี 2560 เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักหลายสกุลและแข็งค่าขึ้นจาก 35.82 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์ สรอ. เมื่อสิ้นปี 2559 เป็น 32.66 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์ สรอ. เมื่อสิ้นปี 2560 จึงส่งผลให้เกิดการขาดทุนจากการตีราคาจำนวนประมาณ 2 แสนล้านบาท
นางจันทวรรณ กล่าวว่า ผลขาดทุนจากการตีราคาไม่ได้กระทบต่อความมั่นคงด้านต่างประเทศของเศรษฐกิจไทย เพราะเงินสำรองระหว่างประเทศที่จำเป็นต่อการดูแลเสถียรภาพด้านต่างประเทศจะต้องถืออยู่ในรูปของสินทรัพย์ต่างประเทศ ที่มีไว้พร้อมใช้สำหรับการรองรับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศและการไปลงทุนในต่างประเทศของคนไทย ตลอดจนเป็นกันชนรองรับการไหลออกของเงินทุน
สำหรับต้นทุนจากการดำเนินนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ จากการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลสภาพคล่อง อัตราดอกเบี้ย และเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ส่งผลให้ธปท. มีต้นทุนดอกเบี้ยจ่าย ในขณะที่รายรับจากการนำเงินสำรองระหว่างประเทศไปลงทุนได้ผลตอบแทนที่น้อยกว่า เพราะอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำมาโดยต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีในช่วงที่ผ่านมาส่วนต่างของดอกเบี้ยจ่าย-รับ ทยอยปรับดีขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดในปี 2560 ปรับลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 15,000 ล้านบาท และคาดว่าดอกเบี้ยรับจะกลับมาสูงกว่าดอกเบี้ยจ่ายในปี2 561 ตามอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น
ส่วนผลกระทบต่อการดำเนินนโยบาย อาจจะมีข้อกังวลใจว่าตัวเลขขาดทุนของธนาคารกลางจะกระทบต่อการดำเนินงานต่อไปได้หรือไม่ ธปท. ขอเรียนว่า การดำเนินภารกิจของธนาคารกลางไม่ได้มุ่งเน้นแสวงหากำไรเหมือนดังกรณีธุรกิจทั่วไป และตามที่ได้อธิบายข้างต้น ผลขาดทุนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลขาดทุนที่เกี่ยวข้องกับการตีราคา ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงเป็นกำไรหรือขาดทุนได้ตามการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ ประสบการณ์ของธนาคารกลางในหลายประเทศที่ประสบกับผลขาดทุนเช่นธปท. ชี้ว่าการขาดทุนของธนาคารกลางไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายของธนาคารกลาง แต่เป็นผลจากการทำหน้าที่ของธนาคารกลางในการดูแลสภาพคล่องในระบบการเงินและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเสถียรภาพของระบบการเงินในระยะยาว
"ธปท. ขอให้ความมั่นใจว่า จะยังคงยึดแนวทางการทำหน้าที่ธนาคารกลางที่ดีตามหลักสากล มุ่งมั่นดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศด้วยความรอบคอบดังที่เป็นมา"