รายงาน กนง.ระบุ ภาพรวมแนวโน้มศก.ไทยโตต่อเนื่อง-ชัดเจนขึ้น อุปสงค์ในประเทศทยอยดีขึ้นแต่ฟื้นยังไม่กระจายตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 30, 2018 10:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 16 พ.ค.61 ซึ่งการประชุมในรอบนั้น คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยเห็นถึงความจำเป็นในการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนต่อไป และพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องและดีกว่าที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน โดยได้รับแรงส่งจากทั้งภาคต่างประเทศและอุปสงค์ในประเทศที่ทยอยปรับดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่ประเมินไว้ ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงบางจุดที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินในอนาคต

"คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาถึงผลดีและผลกระทบของทางเลือกเชิงนโยบายต่าง ๆ (policy trade-offs) แล้ว เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง" รายงานการประชุมระบุ

โดยในการตัดสินนโยบายครั้งนี้ กรรมการได้อภิปรายถึงปัจจัยที่มีผลต่อการพิจารณาด่าเนินนโยบายการเงิน ดังนี้

1. เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องและชัดเจนขึ้น อุปสงค์ในประเทศทยอยปรับดีขึ้น แต่การฟื้นตัวยังไม่กระจายอย่างทั่วถึง เศรษฐกิจไทยได้รับแรงส่งจากภาคต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง การส่งออกสินค้าและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีแนวโน้มขยายตัว และทยอยส่งผลดีไปยังการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ด้านการบริโภคภาคเอกชนทยอยปรับดีขึ้นโดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทน แต่กำลังซื้อที่ดีขึ้นยังไม่กระจายไปทั่วถึงทุกภาคส่วน รายได้ภาคเกษตรที่ขยายตัวจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็น การขยายตัวจากฐานที่ต่ำ รายได้ของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยยังคงเปราะบางและต้องพึ่งพามาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ขณะที่หนี้ครัวเรือนยังคงเป็นปัจจัยฉุดรั้งการบริโภคภาคเอกชน และตลาดแรงงานยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง

ด้านการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น แต่ยังขึ้นอยู่กับการเบิกจ่ายและการลงทุนของภาครัฐในระยะต่อไป ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงจากด้านต่างประเทศอยู่มาก โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของนโยบายทางการค้าของสหรัฐฯ และมาตรการโต้ตอบจากประเทศคู่ค้า

"คณะกรรมการฯ เห็นว่ายังต้องติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยไปอีกระยะหนึ่ง นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในปัจจุบันที่จะช่วยสนับสนุนให้อุปสงค์ภายในประเทศขยายตัวได้เข้มแข็งอย่างทั่วถึงมากขึ้นจึงยังมีความจำเป็น" รายงาน กนง.ระบุ

2. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางทยอยปรับสูงขึ้นตามที่ประเมินไว้ จากราคาหมวดพลังงานตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนราคาหมวดอาหารสดยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทยอยปรับเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ตามอุปสงค์ในประเทศที่ดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะยาวที่ปรับสูงขึ้น ทั้งนี้คณะกรรมการฯ เห็นว่าแรงกดดันเงินเฟ้อด้านสูงในอนาคตอาจน้อยกว่าในอดีต ทั้งการปรับขึ้นค่าจ้างที่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อไม่มาก การปรับขึ้นของราคาน้ำมันที่ทางการมีกลไกดูแลราคา พลังงานภายในประเทศ รวมถึงการปรับขึ้นของราคาสินค้าเกษตรที่มีโอกาสน้อยลงจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกทั่วโลก นอกจากนี้ ผู้ประกอบการโดยรวมยังมีอัตรากำไรดีสามารถรองรับหรือบริหารจัดการต้นทุนที่สูงขึ้นโดยไม่ส่งผ่านไปยังผู้บริโภคได้ ซึ่งคณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดต่อไป โดยเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันจะเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

3. เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงบางจุดที่อาจสะสม ความเปราะบางต่อระบบการเงินได้โดยประเด็นที่คณะกรรมการฯ ติดตาม ได้แก่ (1) พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเป็นเวลานานอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำกว่าที่ควรได้ (2) พัฒนาการของสหกรณ์ออมทรัพย์ (3) ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs และ (4) ภาวะอสังหาริมทรัพย์ ที่ผู้ประกอบการและสถาบันการเงินลงทุนและแข่งขันสูงขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กรรมการบางส่วนเห็นว่าการใช้มาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินเฉพาะจุดในบางภาคเศรษฐกิจ (macroprudential measures) เป็นวิธีที่เหมาะสม โดยกรรมการอีกส่วนหนึ่งเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือที่มีส่วนช่วยป้องกัน (preventive) ไม่ให้ปัญหารุนแรงมากขึ้นจนกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในวงกว้าง และเป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินควบคู่กับการใช้ macroprudential measures เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการสร้างเสถียรภาพระบบการเงินได้

ด้านภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศนั้น เศรษฐกิจคู่ค้าของไทยโดยรวมขยายตัวได้ต่อเนื่องใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน โดยเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักมีแนวโน้มขยายตัวจากการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ตามการจ้างงานและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ดีขึ้นต่อเนื่อง แม้การบริโภคชะลอลงบ้างชั่วคราวจากสภาพภูมิอากาศ แต่คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องในระยะต่อไป อัตราเงินเฟ้อของประเทศคู่ค้าโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงาน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก ขณะที่อัตรา เงินเฟ้อในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ยังไม่เร่งสูงขึ้น

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าความเสี่ยงด้านต่ำต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าใกล้เคียงเดิม ตามความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ เป็นสำคัญ ขณะที่ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โดยรวมใกล้เคียงเดิม เนื่องจากสถานการณ์ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีคลี่คลายลง แต่สถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางมีมากขึ้น

"ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินในเบื้องต้นว่านโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ โดยรวมจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและประเทศคู่ค้าไม่มาก แต่ผลกระทบจะต่างกันไปในแต่ละประเภทสินค้า อย่างไรก็ดีผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต (supply chain) รวมทั้งธุรกิจไทย มีความซับซ้อนและยังประเมินได้ยาก คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของนโยบายและการเจรจาทางการค้าอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจมีผลกระทบรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้รวมทั้งมีนัยต่อความเชื่อมั่นทั้งด้านบรรยากาศการลงทุน การค้าระหว่างประเทศ และภาวะตลาดการเงิน" รายงาน กนง.ระบุ

ส่วนภาวะตลาดการเงิน นักลงทุนในตลาดการเงินโลกยังคงระมัดระวังในการลงทุน ความผันผวนของราคาสินทรัพย์ทางการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปีก่อน แม้ปรับลดลงบ้างจากช่วงต้นปี ทำให้ตลาดการเงินโลกยังคงอ่อนไหวต่อปัจจัยต่างๆ โดยเป็นผลจาก 1.อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ระยะ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นมาสูงกว่า 3% แตะระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี 2.ความไม่แน่นอนของนโยบายทางการค้าของสหรัฐ 3.ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้ดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าขึ้น นักลงทุนระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงและประเทศตลาดเกิดใหม่

คณะกรรมการฯ ตั้งข้อสังเกตว่า ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของนโยบายทางการค้าของสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อการค้าโลกและตลาดการเงินโลกได้มากกว่าที่ตลาดคาดไว้ทั้งในด้านราคาสินทรัพย์และความเชื่อมั่นของนักลงทุน และตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงที่ผ่านมา ภาวะการเงินโลกเริ่มส่งสัญญาณตึงตัวมากขึ้น หลังจากอยู่ในระดับผ่อนคลายมากมานาน โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ปรับสูงขึ้นเร็ว จนถึงระดับที่นักลงทุนเปลี่ยนพฤติกรรมมาระมัดระวังในการลงทุนเพิ่มขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงที่สภาพคล่องในระบบการเงินโลกในระยะข้างหน้าอาจตึงตัวขึ้นรวดเร็วกว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ