นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนเมษายน ปี 2561 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยเดือนเมษายน เติบโตแข็งแกร่งต่อเนื่องจากไตรมาส 1 โดยเครื่องยนต์สำคัญมาจากการส่งออกสินค้า การบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ดี ในขณะที่ด้านการผลิตส่งสัญญาณการเติบโตในทุกหมวดทั้งการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม เกษตรกรรม อีกทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศยังเติบโตต่อเนื่อง
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนในเดือนเมษายน 2561 ส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนเมษายน 2561 ขยายตัวสูงถึง 17.2% ต่อปี ถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 นับตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2560 และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก พบว่าขยายตัว 4.9% ต่อเดือน เนื่องจากมีการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาดมากขึ้น และการจัดงานมอเตอร์โชว์เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน 2561 ที่ผ่านมา สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนเมษายน 2561 กลับมาขยายตัว 7.0% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกขยายตัว 3.7% ต่อเดือน โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการนำเข้ากลับมาขยายตัวที่ 12.0% ต่อปี
ขณะที่ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนเมษายน 2561 ขยายตัวได้ดีที่ 17.6% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก พบว่า ขยายตัว 7.2% ต่อเดือน สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเดือนเมษายน 2561 อยู่ที่ระดับ 67.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน และถือเป็นการปรับตัวสูงสุดในรอบ 38 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อสถานะการการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนในเดือนเมษายน 2561 ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องจักร ที่วัดจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนเมษายน 2561 ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องที่ 30.6% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลขยายตัว 7.1% ต่อเดือน โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่ขยายตัวสูงถึง 25.7% ต่อปี
ขณะที่ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนในเดือนเมษายน 2561 ขยายตัวที่ 3.4% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลขยายตัว 1.5% ต่อเดือนอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้ายังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนเมษายน 2561 ขยายตัวในระดับสูงถึง 12.3% ต่อปี และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ติดต่อกัน และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกขยายตัว 2.0% ต่อเดือน และเป็นการขยายตัวได้ดีในทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดอินเดีย CLMV สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เป็นสำคัญ ที่ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อน ทั้งนี้ สินค้าที่สนับสนุนการส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัวต่อเนื่องที่ 20.4% ต่อปี โดยสินค้านำเข้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ เชื้อเพลิง วัตถุดิบ และสินค้าทุน เป็นต้น ทั้งนี้ ผลของมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่สูงกว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนเมษายน 2561 ขาดดุลจำนวน 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ดี และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยที่ขยายตัวในระดับสูง โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนเมษายน 2561 ขยายตัวต่อเนื่องที่ 9.6% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลขยายตัว 6.1% ต่อเดือน โดยเป็นการขยายตัวได้ดีในหมวดพืชผลสำคัญ หมวดปศุสัตว์ และหมวดประมง
สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนเมษายน 2561 มีจำนวน 3.09 ล้านคน ขยายตัวต่อเนื่องที่ 9.4% ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีมาจากนักท่องเที่ยวชาวจีน เป็นสำคัญ ในขณะที่ นักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี เช่น นักท่องเที่ยวชาวลาว รัสเซีย และไต้หวัน เป็นต้น และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวน 1.57 แสนล้านบาท ขยายตัว 12.5% ต่อปี ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือนเมษายน 2561 อยู่ที่ระดับ 89.1 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากในเดือนเมษายน 2561 มีวันทำการน้อยกว่าปกติเนื่องจากมีวันหยุดยาวต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประกอบกับผู้ประกอบการได้เร่งผลิตไปแล้วในช่วงเดือนก่อนหน้า
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเมษายน 2561 อยู่ที่ 1.1% ต่อปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนเมษายน 2561 อยู่ที่ 0.6% ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนเมษายน 2561 อยู่ที่ 1.1% ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 4.1 แสนคน ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ต่อ GDP ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ 41.2% ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกิน 60% ต่อ GDP สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2561 อยู่ที่ระดับ 215.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.5 เท่า
นายวโรทัย คาดว่า แนวโน้มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในช่วงไตรมาส 2/61 จะขยายตัวมากกว่า 4% หลังเครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวในเดือนเม.ย.มีประสิทธิภาพ และเมื่อรวมกับแนวโน้มการส่งออกในปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีเช่นกัน น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทย