นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า วันนี้ ธปท. ได้ให้ความเห็นชอบให้บริษัท 5 ราย เป็น Qualified Company และให้มีศูนย์บริหารเงิน (Treasury Center) 1 ราย ขยายขอบเขตการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศให้ครอบคลุมสิทธิที่ Qualified Company ได้ด้วย ซึ่งจะสามารถทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศได้กว้างกว่าขอบเขตที่ Treasury Center ได้รับในปัจจุบัน จึงถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นมิติใหม่ของการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศของภาคเอกชนไทย
สำหรับบริษัทที่ได้รับความเห็นชอบจาก ธปท. ภายใต้โครงการ Qualified Company เป็นกลุ่มแรก จำนวน 5 บริษัท และ ศูนย์บริหารเงิน 1 ราย ได้แก่
1. บมจ. การบินไทย (THAI)
2. บริษัท เอ็นเอ็มบี-มินีแบ ไทย จำกัด
3. บริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด
4. บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด
5. บมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC)
6. บริษัท มิตรผล เทรชเชอรี่ เซ็นเตอร์ จำกัด
"ธปท. เล็งเห็นประโยชน์และความสนใจของภาคเอกชนต่อโครงการนี้ ธปท. จึงขยายช่วงเวลายื่นขอความเห็นชอบออกไปจนถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 และปรับเปลี่ยนเกณฑ์คุณสมบัติให้สอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจของทั้งบริษัทไทยและบริษัทข้ามชาติที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น โดย ธปท. จะติดตามผลของโครงการ และจะพิจารณาขยายการผ่อนคลายดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบธุรกิจในวงที่กว้างขึ้นต่อไปด้วย" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ
สำหรับครึ่งหลังของปี 2561 จะเข้าสู่ระยะที่สองของการปฏิรูปกฎเกณฑ์ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ซึ่งจะมุ่งเน้นที่กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และบุคคลรายย่อยให้สามารถบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศมีประสิทธิภาพและคล่องตัวมากขึ้น เช่น การปรับปรุงหลักเกณฑ์และลดเอกสารประกอบการทำธุรกรรม การรวมประเภทบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposits – FCD) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่หลายประเภทเข้าด้วยกัน และการผ่อนคลายการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศโดยไม่ผ่านตัวแทนการลงทุน นอกจากนี้ ยังจะได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และธุรกิจโอนเงินระหว่างประเทศ ทั้งในด้านคุณสมบัติและรูปแบบการให้บริการ เพื่อรองรับการให้บริการรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น และเพิ่มทางเลือกในการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ ซึ่ง ธปท. จะได้นำเสนอแผนการผ่อนคลายเหล่านี้ต่อกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาต่อไป
"ในครึ่งปีหลัง ธปท. ยังมีแผนดำเนินการปฏิรูปการกำกับสถาบันการเงิน โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.61 ซึ่งจะเชิญสถาบันการเงินและภาคธุรกิจจำนวนมาก เข้ามาร่วมในการปฏิรูปครั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 4 เดือน ประเด็นสำคัญของการปฏิรูปจะต้องทำให้สถาบันการเงินทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ให้คล่องตัวมากขึ้น ทั้งเรื่องการทำงานภายในและการทำธุรกิจของสถาบันการเงิน ขยายขอบเขตการลงทุนไปในบริษัทเทคโนโลยีที่เกิดใหม่มากขึ้น นายวิรไท กล่าว
พร้อมกันนี้ ยังต้องทำให้สถาบันการเงินปล่อยกู้สินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยลดขั้นตอนการพิจารณาสินเชื่อ การลดจำนวนเอกสาร การบริหารจัดการสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ซึ่งจะลดต้นทุนทั้งของสถาบันการเงินและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
อนึ่ง ธปท. ได้เริ่มโครงการการปฏิรูปและผ่อนคลายกฎเกณฑ์การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน (FX Regulations Reform) ตั้งแต่กลางปี 2560 โดยเริ่มจากเพิ่มทางเลือกซื้อขายและโอนเงินรายย่อย เพิ่มทางเลือกในการลงทุนต่างประเทศให้แก่นักลงทุนไทย ปรับลดเอกสารการโอนเงินออกนอกประเทศ ยกเลิกการกรอกแบบการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ และเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าสามารถยื่นเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งช่วยลดขั้นตอนการเตรียมเอกสาร ลดต้นทุน และลดระยะเวลาในการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุนให้การทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศของภาคเอกชนสะดวกรวดเร็วมากขึ้น (Ease of doing business)
การปฏิรูปที่สำคัญอีกด้าน ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ คือ การอนุญาตให้บริษัทและกลุ่มบริษัทที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด (Qualified Company) สามารถทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศกับธนาคารพาณิชย์ได้โดยไม่ต้องแสดงเอกสารประกอบการทำธุรกรรมหลายรายการ เช่น ใบกำกับสินค้า สัญญาเงินกู้หรือหลักฐานแสดงภาระอื่น ๆ ซึ่ง Qualified Company จะต้องมีนโยบายการกำกับดูแล และการตรวจสอบการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศที่รัดกุมจากผู้บริหารระดับสูงของบริษัท โดย ธปท. จะติดตามพฤติกรรมการทำธุรกรรมของ Qualified Company ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytic) แทนการพิจารณารายรายการ
ด้านน.ส.วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท. จะกำกับดูแล Qualified Company โดยการวิเคราะห์ความสอดคล้องของการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศกับแผนธุรกิจและนโยบายบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของ Qualified Company หากพบความไม่สอดคล้อง ธปท. จะมีการหารือกับบริษัท และพิจารณาทบทวนการให้ความเห็นชอบเป็น Qualified Company แก่บริษัทนั้น ๆ ตามความเหมาะสม
สำหรับรายละเอียดการผ่อนคลายเกณฑ์คุณสมบัติของบริษัทและกลุ่มบริษัทที่สามารถยื่นขอความเห็นชอบเป็น Qualified Company ต่อ ธปท. มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
(1) ผ่อนคลายคุณสมบัติของบริษัทและกลุ่มบริษัทด้านปริมาณธุรกรรมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศและธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศอื่น ๆ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมารวมกัน จากไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. เป็น 1,500 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือเทียบเท่า
(2) ยกเลิกข้อกำหนดการทำธุรกรรมที่แต่เดิมบริษัทต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อชำระสินค้าบริการและการลงทุนหรือกู้ยืมประกอบด้วย จึงจะสามารถดำเนินการได้ เป็นการทำธุรกรรมเพื่อวัตถุประสงค์เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็พอ ได้แก่ ค่าสินค้าบริการ การรับเงินลงทุนหรือการลงทุนในกิจการในต่างประเทศ การให้กู้ยืมหรือกู้ยืมจากกิจการในต่างประเทศ หรือธุรกรรมอนุพันธ์ที่มีการยื่นขออนุญาตจาก ธปท. กรณีหนึ่งกรณีใดที่กล่าว มาข้างต้น
(3) ขยายระยะเวลาการยื่นขอความเห็นชอบไปอีก 6 เดือน จนถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 บริษัทหรือกลุ่มบริษัทที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถสอบถามรายละเอียดและขั้นตอนการสมัครได้จากธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร ซึ่งจะเป็นผู้ดำเนินการยื่นขอความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยต่อไป