นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร มอบนโยบายแก่ผู้บริหารกรมสรรพากรหลังเข้ารับตำแหน่ง โดยเน้นถึงความจำเป็นที่กรมสรรพากรต้องปรับเปลี่ยนองค์กรให้ทัน กับการเปลี่ยนแปลงของโลกซึ่งกำลังอยู่ในยุคดิจิทัลและตอบสนองนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล โดยจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการทำงานของกรมสรรพากรทุกกระบวนการหรือที่เรียกว่า Digital Transformation เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารการจัดเก็บภาษีอากร ควบคู่ไปกับสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้เสียภาษีซึ่งรับบริการจากกรมสรรพากร อันจะทำให้กรมสรรพากรสามารถบรรลุเป้าหมายการเป็นกรมสรรพากรดิจิทัล หรือ Digital RD ได้ภายในปี 2563 ได้แก่ การยื่นแบบแสดงรายการในระบบ Digital เช่น การนำระบบ e-filing มาใช้งาน เป็นการยื่นแบบแสดงรายการในระบบอิเล็กทรอนิกส์ และนำระบบ e-Tax Invoice และ e-Receipt จะสะดวกรวดเร็วในการดำเนินการออกใบกำกับภาษีหรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ และช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) ในประเทศไทยตามนโยบายของรัฐบาล
นอกจากนี้ มีนโยบายที่จะนำการวิเคราะห์ข้อมูลหรือ Data Analytics มาใช้ในการบริหารการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรทุกด้าน อาทิ การประมาณการรายได้ การวิเคราะห์และติดตามผลการจัดเก็บภาษี การบริหารความเสี่ยง และการตรวจสอบภาษี เช่น การนำระบบคัดเลือกผู้เสียภาษีเพื่อกำกับ และตรวจสอบ (Risk Base Audit System) มาช่วยลดระยะเวลาในการตรวจสอบ
อีกทั้งจะต้องส่งเสริมให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรทุกคนให้มีความรู้และทักษะทางดิจิทัล สำหรับการปฏิรูปภาษีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศนั้น อธิบดีกรมสรรพากรมุ่งเน้นการพัฒนากฎหมายและกระบวนการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยจะต้องทำให้การเสียภาษีมีความชัดเจน แน่นอนและสะดวก รวมทั้งก่อให้เกิดต้นทุนแก่ผู้เสียภาษีและกรมสรรพากรน้อยที่สุด ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ กรมสรรพากรต้องมีการสร้างความร่วมมือกับองค์กรชั้นนำระหว่างประเทศ เช่น OECD เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลภาษีอากร