ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 61 ขึ้นไปที่ 1.3%YOY จากเดิม 1.1%YOY โดยเป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับขึ้นสูงกว่าที่คาดเป็นหลัก ส่งผลต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศและต้นทุนสินค้าและบริการอื่นๆ
กระทรวงพาณิชย์ ระบุอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคมปรับเพิ่มขึ้นไปที่ 1.49%YOY จาก 1.07%YOY ในเดือนก่อน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 5 เดือนแรกของปี 61 อยู่ที่ 0.89%YOY ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับขึ้นไปที่ 0.80%YOY จาก 0.64%YOY ในเดือนก่อน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 5 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 0.66%YOY อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้นเป็นผลจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 76.7 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 51.0%YOY ส่งผลให้ดัชนีราคาพลังงานขยายตัว 7.7%YOY
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วงครึ่งปีหลังจะมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงกว่าในช่วงครึ่งปีแรก จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในช่วงที่เหลือของปีที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงกว่าปีก่อน การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตสำหรับบุหรี่และสุราที่ยังคงมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อและยังต้องจับตาผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่อต้นทุนการผลิตซึ่งจะมีผลตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารสดอาจปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 2 โดยส่วนหนึ่งได้รับประโยชน์จากฐานต่ำในปีก่อนหน้า
SCB EIC ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขึ้นไปที่ 0.7%YOY ในปี 61 จากเดิม 0.6%YOY โดยต้นทุนสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปและบริการด้านการขนส่งมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาในหมวดดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย นอกจากนี้ ต้องจับตากำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศในระยะต่อไป หลังเริ่มเห็นสัญญาณการกระจุกตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเ ริ่มคลี่คลายเห็นได้จากการใช้จ่ายในหมวดสินค้ากึ่งคงทนและไม่คงทนเร่งตัวขึ้นในไตรมาสแรก รวมถึงรายได้ภาคเกษตรที่เริ่มทรงตัวหลังจากหดตัวมา 9 เดือนติดต่อกัน อัตราการว่างงานเดือน เม.ย. ที่ลดลงมาอยู่ที่ 1.1% จากต้นปีซึ่งอยู่ที่ 1.3% จากจำนวนการจ้างงานที่ปรับเพิ่มขึ้น 0.5%YOY ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน อีกทั้งค่าจ้างเฉลี่ยนอกภาคเกษตรของลูกจ้างคนไทยแบบปรับฤดู กาลก็ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นทุกเดือนเฉลี่ย 3.9%YOY ในไตรมาสแรกถือเป็นสัญญาณการเริ่มฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศซึ่งอาจมีผ ลต่อการตัดสินใจปรับขึ้นราคาของผู้ประกอบการในระยะต่อไป
อย่างไรก็ตาม SCB EIC มองว่าการเพิ่มการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากครัวเรือนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางยังคงมีภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงกดดันการใช้จ่ายอยู่