นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงผลกระทบความเสี่ยงวิกฤติยูโรโซนรอบใหม่และปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะและการเมืองอิตาลีว่า ขณะนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นยังจำกัดวงอยู่ที่ตลาดการเงินโลก แม้วิกฤติการเมืองอิตาลีจะคลี่คลายลงบ้าง แต่เชื่อว่าความผันผวนของตลาดการเงินทั่วโลกยังมีอยู่ โดยเฉพาะตลาดสินทรัพย์เสี่ยง เงินยูโรอาจอ่อนค่าลงอย่างมากและอาจเป็นเป้าหมายของการถูกโจมตีหรือเก็งกำไรได้ หากมีการโจมตีค่าเงินอาจนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเงินที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวมได้ และเศรษฐกิจไทยก็จะหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ยาก
การไหลออกของเงินทุนระยะสั้นจากตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทย กระแสเงินทุนไหลออกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะทุนขนาดใหญ่ของไทยอาจจะไหลออกไปลงทุนในอียูและอิตาลีเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาสินทรัพย์ในอิตาลีและอียูจะปรับตัวลง ผลกระทบจะขยายวงไปสู่ภาคการค้าและภาคเศรษฐกิจจริงหรือไม่อยู่ที่ว่า ปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะและการเมืองอิตาลีนำไปสู่แรงกดดันให้เกิดการถอนตัวออกจากยูโรโซนหรือไม่ และอิตาลีสามารถทำตามแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจและมาตรการรัดเข็มขัดเพื่อแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น 130% ของจีดีพีได้หรือไม่
"หากอิตาลีไม่สามารถทำได้ตามเงื่อนไขของอียูกำหนดเอาไว้ ปัญหาผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก จะรุนแรงกว่ากรณีของวิกฤติหนี้สินของกรีซที่ประทุขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2552 เนื่องจากปริมาณหนี้สาธารณะที่ใหญ่กว่าเกือบ 5 เท่า ความเสี่ยงอีกประการหนึ่ง คือ การจัดการเลือกตั้งใหม่ในเร็วๆ นี้ มีความเป็นไปได้ที่พรรคการเมืองที่สนับสนุนการถอนตัวออกจากอียูอาจชนะการเลือกตั้ง นำไปสู่การลงประชามติเพื่อออกจากยูโรโซนได้แบบ BREXIT (อังกฤษออกจากอียู)" นายอนุสรณ์กล่าว
พร้อมระบุว่า ผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ในอิตาลี จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าระบบยูโรโซนจะดำรงอยู่ด้วยความมั่นคงหรือไม่ หากพรรคไฟว์สตาร์ และพันธมิตรที่มีนโยบายต่อต้านอียูชนะเลือกตั้งด้วยเสียงเพิ่มขึ้นจะสั่นคลอนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ (Economic Integration) กระตุ้นให้กระแสการต่อต้านการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ การต่อต้านทุนนิยมโลกาภิวัตน์จะเติบโตขึ้นอีก การค้าการลงทุนโลกจะเติบโตลดลงพร้อมกับกำแพงภาษีการค้าการลงทุนที่อาจสูงขึ้น และการขยายตัวของแนวคิดแบบลัทธิกีดกันทางการค้า (Trade Protectionism) และชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ขณะที่กระแสชาตินิยมขวาจัดจะเพิ่มขึ้นในยุโรป แม้กระแสเสรีนิยมและสังคมนิยมประชาธิปไตยจะยังมีบทบาทอยู่ก็ตาม
นอกจากนี้ โลกาภิวัตน์การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ภูมิภาคนิยมไร้พรมแดน จะถูกท้าทายโดยกระแสชาตินิยมทางเศรษฐกิจที่เน้นอธิปไตยทางเศรษฐกิจเหนือความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจร่วมกันของภูมิภาค โดยกระแสนี้จะไม่ลุกลามมายังอาเซียนตราบเท่าที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์จากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบทางลบจากการเปิดเสรีได้รับการดูแลให้สามารถปรับตัวได้
"ปัญหาวิกฤติการเมืองในอิตาลี ให้บทเรียนต่อไทยว่าการแก้ปัญหาด้วยการคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่เป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด เป็นไปอย่างสันติวิธีด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน และวิธีการทางประชาธิปไตยย่อมทำให้ปัญหาไม่ลุกลามซับซ้อนและนำมาสู่ความขัดแย้งรุนแรงในภายหลัง" นายอนุสรณ์ระบุ
ทั้งนี้ ไทยส่งออกไปอียูคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10-11% ของมูลค่าส่งออก อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอิตาลีและอียูอาจจะชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ขณะที่ประเทศไทยส่งออกไปประเทศอิตาลีเพียง 0.8%ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด แต่มีความเชื่อมโยงกับกิจกรรมการส่งออกต่อเนื่องไปยังอียูมาก โดยสินค้าส่งออกหลัก คือ อาหารแปรรูป อัญมณีเครื่องประดับ เสื้อผ้า เครื่องหนัง รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เป็นต้น
นายอนุสรณ์ ได้กล่าวเตือนว่า การอ่อนแอลงของเศรษฐกิจอิตาลีและยูโรโซน จะทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรปไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ และจะมีการชะลอมาตรการ QE EXIT ภาวะดังกล่าวจะกดดันให้เงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักและเงินบาท เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นได้อีกส่งผลกระทบต่อกิจการส่งออกที่ปรับตัวไม่ทัน และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรเข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนด้วยความระมัดระวังความเสี่ยงไม่ให้เกิดการขาดทุนทางบัญชีเพิ่มสูงมากเกินไป แม้การขาดทุนของธนาคารแห่งประเทศไทยจะเกิดจากการทำหน้าที่ตามพันธกิจของการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจ แต่ตัวเลขการขาดทุนสะสมทางบัญชีจำนวนหลายแสนล้านบาทย่อมสร้างความวิตกกังวลได้
การขาดทุนจากการที่เงินบาทแข็งค่าและเงินสกุลหลักในทุนสำรอง ไม่ว่าจะเป็นเงินดอลลาร์และเงินยูโรอ่อนลง การขาดทุนดังกล่าวจะลดลงหากภาคธุรกิจพร้อมรับความผันผวนในอัตราแลกเปลี่ยน และธปท.มีภาระบริหารจัดการการแข็งค่าของเงินบาทด้วยการเข้าซื้อเงินดอลลาร์หรือยูโรลดลง หรือควรนำเรื่องการจัดตั้งกองทุนเพื่อความมั่งคั่งมาทบทวนดูว่าควรนำเงินสำรองระหว่างประเทศบางส่วนไปลงทุนสินทรัพย์อย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจแทนการถือครองเงินดอลลาร์เงินยูโรหรือไม่
ขณะนี้ไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศกว่า 2.15 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งมีมากเกินความจำเป็น ควรนำมาจัดตั้งกองทุนเพื่อบริหารผลตอบแทน นำรายได้ไปลงทุนเพื่อประโยชน์ของประชาชน ดูแลสวัสดิการและแก้ปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ แต่การดำเนินการนี้จะต้องมีการกำกับควบคุมที่ดีและมีธรรมาภิบาล เงินสำรองนั้นโดยหลักการต้องเป็นเงินที่มีสภาพคล่องสูง การมีสัดส่วนเงินสกุลหลักในทุนสำรองระหว่างประเทศจึงมีความสำคัญ แต่ไม่จำเป็นต้องมีมากจนเกินความจำเป็น และมีต้นทุนในการถือครองจากการด้อยค่า
การกำหนดให้มีเงินสกุลต่างประเทศสกุลหลักหนุนหลังเงินบาทนั้น เป็นแนวคิดแบบเก่าเพื่อให้ ธปท.มีวินัยทางการเงินไม่พิมพ์เงินบาทออกมามากเกินไป ทำให้เงินบาทเสื่อมค่าลงและขาดความน่าเชื่อถือ แต่ปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ธปท.ก็สามารถควบคุมให้เงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ ความเชื่อมั่นต่อเงินบาทจึงขึ้นอยู่ความเชื่อมั่นต่อ ธปท.ในการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมายได้ในระยะยาว
"การมีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับ 1 แสนล้านดอลลาร์ ก็เกินพอสำหรับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยแล้ว เรื่องนี้ทางการไทยถูกตั้งคำถามโดยกองทุนการเงินระหว่าประเทศว่า ทำไมจึงไม่นำเงินสำรองระหว่างประเทศมากเกินพอดี ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน" นายอนุสรณ์กล่าว