นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวก่อนการชี้แจงและให้คำปรึกษาในการกรอกคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ (MHz)ว่า กสทช. ยังคงเปิดกว้างที่จะให้มีผู้เข้าประมูลรายใหม่เข้ามาทำการประมูลคลื่น แต่ต้องยอมรับว่าโอกาสของรายใหม่ในกิจการโทรคมนาคมค่อนข้างลำบากเนื่องจากต้องลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาล
"เราเปิดให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ วันที่ 15 มิ.ย. แล้วก็จะตรวจคุณสมบัติ ถ้าเป็นรายเดิม การตรวจคุณสมบัติก็รวดเร็ว ซึ่งก่อนจะเปิดให้ยื่นคำขอฯ ระหว่างนี้รายใหม่ก็มาขอเอกสารและเข้ามายื่นวันที่ 15 มิ.ย." นายก่อกิจกล่าว
ทั้งนี้ กสทช. จะเปิดโอกาสผู้ที่สนใจสามารถเข้ารับเอกสารคำขอรับใบอนุญาตได้รัหว่างวันที่ 15 พ.ค.- 14 มิ.ย.นี้ ซึ่งได้มีผู้สนใจเข้ารับเอกสารคำขอแล้วจำนวน 6 บริษัท ได้แก่ 1. บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส (ADVANC) 2.บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด 3. บริษัทดีแทค ไตรเน็ต จำกัด 4.บริษัท ดีแทค บรอดแบรนด์ จำกัด 5.บริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และ 6.บริษัท เรียล มูฟ จำกัด
โดยวันนี้เป็นการชี้แจงกับผู้ให้บริการทั้ง 3 กลุ่มที่มีอยู่ และจะเปิดชี้แจงกับนักลงทุนและสื่อมวลชนเป็นลำดับต่อไปในวันพรุ่งนี้ (5 มิ.ย.) หลังจากนั้นในวันที่ 15 มิ.ย.61 จะเปิดให้ยื่นเอกสารคำขอเพื่อเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ 1800MHz จากนั้น กสทช.จะพิจารณาคุณสมบัติและประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติที่มีสิทธิ์เข้าร่วมประมูลภายใน 15 วันที่ได้รับเอกสารครบถ้วน หรือประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้เข้าร่วมประมูลฯ ในวันที่ 29 มิ.ย.61
นายก่อกิจ เชื่อว่า การประมูลที่เกิดขึ้นจะไม่กระทบกับผู้บริโภค เนื่องจากเตรียมการเยียวยาผู้ใช้คลื่นความถี่เดิมไว้ และการประมูลครั้งนี้เป็นการประมูลในวันที่ 4 ส.ค. ก่อนที่ขึ้นจะหมดสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย.61
โดยการประมูลคลื่น 1800 MHz รอบนี้มี 45 MHz แบ่ง 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15MHz ราคาเริ่มต้นของกาประมูล 37,457 ล้านบาทโดยใช้เกณฑ์การประมูล N-1 (N คือผู้เข้าร่วมการประมูล) ซึ่งหากมีผู้เข้าร่วมประมูล 3 รายจะนำใบอนุญาตออกมาประมูล 2 ใบ หากมีผู้เข้าร่วมประมูล 2 ราย จะนำใบอนุญาตออกมาประมูล 1 ใบ