นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาทบทวนความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และสิ่งแวดล้อม โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับทุกโครงการภายใต้การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 เป็น 1 ใน 5 โครงการนำร่อง ซึ่งจะเปิดการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณการระหว่าง 95,000 – 105,000 ล้านบาท (เป็นมูลค่าประมาณการเท่านั้น) ซึ่งตามพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งขั้นตอน Fasttrack EEC ที่ลดเวลาดำเนินการประมูลได้ภายใน 8-10 เดือน ซึ่งตามแผนงาน จะประกาศเงื่อนไขการประมูล (TOR) ภายในเดือน ส.ค.61 สามารถสรุปผลได้ตัวผู้รับสัมปทานในเดือน ธ.ค.61 มั่นใจว่ากระบวนการทุกอย่างภายในปลายปี 61 ก่อนเลือกตั้งเดือนก.พ.62
โดยท่าเรือ แหลมฉบังขั้นที่ 3 จะพัฒนาเพื่อให้รองรับการขนส่งตู้สินค้าผ่านทางรถไฟและเพิ่มระบบจัดการขนตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ (Automation) การรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน ครั้งที่ 2 เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนเป้าหมายเกี่ยวกับรายละเอียดในการพัฒนาโครงการ รูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน ซึ่ง นโยบายของรัฐบาล ภายใต้คณะกรรมการ อีอีซี เปิดประมูลแบบนานาชาติ เปิดกว้างให้มีนักลงทุนเข้าร่วมมากที่สุด เพื่อให้เกิดการแข่งขันซึ่งรัฐบาลจะได้ข้อเสนอที่ดีที่สุด ซึ่งหากไม่ติดข้อกฎหมายใดๆ มีความเป็นไปได้ที่จะ ใช้รูปแบบเดียวกับการประมูลรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ที่ให้ต่างชาติถือหุ้นได้ 75% ยกเว้นด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่ให้ตั้งบริษัทลูกที่มีคนไทยถือหุ้น 51%
"การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 เป็นการวางเพื่ออนาคตอีก 20 ปี ซึ่งจากนโยบายของหลายประเทศ จะทำให้แหลมฉบัง เป็นท่าเรือศูนย์กลางอินโดจีนเป็น อินโดไชน่าเกต์เวย์ เช่น จีน มีOne Belt and One Road อินเดีย มีมองตะวันออก (Look East Policy) ส่วนญี่ปุ่น มี ยุทธศาสตร์อินโด - แปซิฟิก ดังนั้นรัฐบาลจังมีนโยบายพัฒนาไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการค้า การลงทุนในอินโดจีน โดยพัฒนา พื้นที่ EEC ซึ่งมีโครงการที่จัพัฒนามูลค่ากว่า 6 แสนล้านบาท เชื่อว่าจะขับเคลื่อนและทำให้เศรษฐกิจไทยโตมากกว่า 4.8% ในปัจจุบันแน่นอน "นายกอบศักดิ์ กล่าว
ด้าน ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบังกล่าวว่า ที่ผ่านมา การท่าเรือฯ ได้ทบทวนการศึกษาเพื่อเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางในแหลมฉบังขั้นที่ 3 ให้ได้เป็น30% นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการศึกษา ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)ซึ่งได้ ทำข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเสนอต่อคณะผู้ชำนาญการ (คชก.) ในสัปดาห์หน้า คาดว่าจะได้รับอนุมัติในเดือนส.ค.นี้
โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 เป็นโครงการที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือ เพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยโครงการมีความได้เปรียบทั้งในด้านทำเลที่ตั้ง และรูปแบบของการดำเนินงาน ที่เป็นศูนย์รวมและกระจายสินค้า ศูนย์แวะพักตู้สินค้า และภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆ ระหว่างประเทศในระดับอนุภูมิภาคที่สามารถเอื้ออำนวยให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูการค้าสู่กลุ่มประเทศ CLMV รวมทั้งจีนตอนใต้ จีนตะวันตก ญี่ปุ่นและอินเดียด้วย
ทั้งนี้ จากการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน ครั้งที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 2 พ.ค.61 ได้นำเสนอข้อมูล นโยบาย และแผนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 และความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งพบว่านักลงทุนและผู้สนใจจากภาคเอกชน 95% เชื่อว่า ท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 มีความต้องการใช้ระบบจัดการขนตู้สินค้าแบบกึ่งอัตโนมัติเข้ามาดำเนินการในช่วงแรก
นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนและผู้สนใจจากภาคเอกชนที่แสดงความสนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุน 92% และเห็นด้วยกับแผนแม่บทในการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 คิดเป็น 93%
ทั้งนี้ 50% ของนักลงทุนและผู้สนใจจากภาคเอกชนให้ความสนใจที่จะร่วมลงทุนในท่าเรือสินค้า รองลงมาคือ ท่าเรืออเนกประสงค์ 38% และท่าเรือขนส่งสินค้ายานยนต์ 12% ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มความสามารถในการขนส่งตู้สินค้าจาก 11.1 ล้านทีอียูต่อปี เป็น 18.1 ล้านทีอียูต่อปี เพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งรถยนต์จาก 2 ล้านค้นต่อปี เป็น 3 ล้านคันต่อปี เพิ่มสัดส่วนการขนส่งตู้สินค้าผ่านท่าโดยรถไฟทั้งหมดของท่าเรือแหลมฉบังจากร้อยละ 7 เป็น 30% ลดต้นทุนค่าขนส่งรวมของประเทศจาก 14% ของจีดีพี เหลือ 12% ของจีดีพี ประหยัดเงินค่าขนส่งได้ถึง 250,000 ล้านบาท