นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวถึงกรณีมหาวิทยาลัยอาร์แคนซัส (UAR) และมหาวิทยาลัยหลุยส์เซียนา (LSU) ซึ่งเป็นผู้นำด้านการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวของสหรัฐ และมูลนิธิวิจัยข้าวแคลิฟอร์เนีย (CCRF) ได้เปิดเผยผลสำเร็จของการคิดค้นและนำเสนอข้าวกลิ่นหอมพันธุ์ใหม่ 3 สายพันธุ์ คือ ข้าวจัสมิน ARoma 17, ข้าวจัสมิน CLJ01 และข้าวจัสมิน Calaroma-201 ซึ่งจะเข้ามาแข่งขันในตลาดข้าวหอมมะลิของไทย เพราะมีความหอมทัดเทียมกับข้าวหอมมะลิไทย แต่มีราคาต่ำกว่าว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าคุณลักษณะของข้าวหอมมะลิ 3 สายพันธุ์ของสหรัฐฯ ทั้งในด้านรสชาติ กลิ่นหอม และความนุ่มจะเหมือนข้าวหอมมะลิไทยหรือไม่ หากคุณลักษณะด้อยกว่า ก็ไม่น่าเป็นห่วง แต่หากใกล้เคียงกันอาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิ เพราะจะมีคู่แข่งขันเพิ่มมากขึ้น
สำหรับการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวหอมมะลิของสหรัฐครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 จากก่อนหน้านี้ที่เคยพัฒนาข้าวสายพันธุ์ JAZZMAN จนสำเร็จเมื่อปี 49 และข้าว JES ในปี 52 โดยข้าว JAZZMAN สามารถวางขายได้ใน 48 มลรัฐ และส่งออกไปต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ส่วนข้าว JES นำมาวางจำหน่ายในแบรนด์ American Jazmine แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตาม สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ นครชิคาโก ให้ความเห็นว่า ไทยต้องเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้โดยวางตำแหน่งข้าวไทยเป็นนิช มาร์เก็ต หรือตลาดเฉพาะ โดยให้มีความโดดเด่นเหนือคู่แข่ง สร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภคเห็นถึงความแตกต่าง รวมถึงขยายตลาดสู่ผู้บริโภคกลุ่มใหม่ในสหรัฐฯ เช่น กลุ่มฮิสแปนิค (เชื้อสายสเปน) กลุ่มชาวอเมริกันเจเนเรชั่นเอ็กซ์ และวาย เป็นต้น