ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในเดือนพ.ค. 61 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค อยู่ที่ 80.1 จาก 80.9 ในเดือนเม.ย.61 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 66.9 จาก 67.8 ในเดือนเม.ย.61
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 75.2 จาก 75.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 98.3 จาก 99.1
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพ.ค. ปรับลดลงจากความกังวลเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า รวมทั้งปัญหาราคาน้ำมันแพง
สำหรับปัจจัยลบ ประกอบด้วย ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ผู้บริโภคกังวลเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและกระจุกตัว, กังวลเสถียรภาพการเมือง ที่อาจเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากก.พ. 62 และกังวลปัญหาสงครามการค้าในระดับโลก
ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เผยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 1/61 เติบโต 4.8% เพิ่มสูงสุดในรอบ 5 ปี พร้อมปรับคาดการณ์ GDP ปี 61 เป็น 4.2-4.7%, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5%, การส่งออกในเดือนเม.ย.เพิ่มขึ้น 12.34% และ เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย