ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในเดือนพ.ค. 61 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค อยู่ที่ 80.1 จาก 80.9 ในเดือนเม.ย.61 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 66.9 จาก 67.8 ในเดือนเม.ย.61
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 75.2 จาก 75.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 98.3 จาก 99.1
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพ.ค. ปรับลดลงจากความกังวลเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า รวมทั้งปัญหาราคาน้ำมันแพง
สำหรับปัจจัยลบ ประกอบด้วย ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ผู้บริโภคกังวลเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและกระจุกตัว, กังวลเสถียรภาพการเมือง ที่อาจเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากก.พ. 62 และกังวลปัญหาสงครามการค้าในระดับโลก
ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เผยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 1/61 เติบโต 4.8% เพิ่มสูงสุดในรอบ 5 ปี พร้อมปรับคาดการณ์ GDP ปี 61 เป็น 4.2-4.7%, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5%, การส่งออกในเดือนเม.ย.เพิ่มขึ้น 12.34% และ เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการในเดือนพ.ค.นี้ มีปัจจัยสำคัญจาก 3 ประการ คือ ผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นใกล้ระดับจิตวิทยาที่ 30 บาท/ลิตร แต่ขณะนี้ราคาน้ำมันได้เริ่มลดลงแล้ว ประกอบกับรัฐบาลส่งสัญญาณตรึงราคาน้ำมันไม่ให้ปรับตัวสูงเกินกว่า 30 บาท/ลิตร ดังนั้นปัจจัยนี้อาจเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องค่าครองชีพ ซึ่งการสำรวจในเดือนพ.ค. พบว่าดัชนีค่าครองชีพในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 47 เดือน เป็นผลจากความกังวลเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อราคาสินค้าอื่นๆ ให้ปรับขึ้นราคาตามไปด้วย ขณะเดียวกันยังดูได้จากอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มไต่ระดับสูงขึ้นกว่า 1% รวมถึงปัจจัยที่ผู้บริโภคมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ยังไม่นิ่ง โดยเฉพาะกำหนดเวลาการเลือกตั้งว่ายังเป็นไปตามกำหนดในเดือน ก.พ.62 หรือไม่
"ทั้ง 3 ปัจจัยเหล่านี้ เป็นปัจจัยหลักๆ ซึ่งรวมกับปัจจัยเดิมในเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับช่วง 4 ปีก่อน จึงทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดยังไม่โตหรือยังไม่กลับมาเต็มที่ เพราะเศรษฐกิจเพิ่งเริ่มฟื้นตัว และยังเป็นการโตแบบกระจุก ไม่กระจาย" นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ดังนั้นจึงต้องติดตามต่อไปว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะกลับมาปรับตัวดีขึ้นหรือไม่ เมื่อปัจจัยดังกล่าวได้คลี่คลายลงแล้ว โดยต้องรอดูตัวเลขอีกประมาณ 2-3 เดือน
อย่างไรก็ดี หากผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความมั่นใจอย่างต่อเนื่อง ทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจและสถานการณ์ทางการเมืองทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวแบบกระจายตัวมากขึ้นภายในไตรมาสที่ 2-3 ของปีนี้ จะส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความมั่นใจในการบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งน่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเด่นชัดขึ้นได้ในปลายไตรมาสที่ 2 หรือต้นไตรมาสที่ 3 และเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจไทยปี 2561 ขยายตัวได้ใกล้เคียงระดับ 4.5%
"ตอนนี้เรายังคงประมาณการ GDP ปีนี้ไว้ที่ 4.4-4.5% ไปก่อน ซึ่งในเดือนพ.ค.นี้ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงทรงๆ ตัว แต่ก็ไม่ได้ส่งสัญญาณในเชิงลบ แต่อาจจะมีการทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจใหม่อีกครั้งในเดือน ก.ค." นายธนวรรธน์ระบุ
นายธนวรรธน์ ยังกล่าวถึงกระแสการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วยว่า การปรับ ครม.จะมีผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจหรือไม่นั้น มองว่า ขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีที่จะมาใหม่สามารถขับเคลื่อนงานได้ตามนโยบายหรือยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลวางไว้หรือไม่ ซึ่งหากเป็นบุคคลที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่นและยอมรับว่าจะสามารถสานต่อนโยบายของรัฐบาลได้อย่างต่อเนื่องก็จะมีผลต่อเศรษฐกิจในเชิงบวก ในทางตรงกันข้ามหากบุคคลที่เข้ามาใหม่ไม่เป็นที่ยอมรับหรือไม่เชื่อมั่นจากประชาชนก็จะส่งผลในเชิงลบต่อเศรษฐกิจได้
"ถ้าจะมีการปรับ ครม.เกิดขึ้นจริง ก็เชื่อว่ารัฐบาลจะเลือกบุคคลที่สามารถทำงานได้จริงเข้ามา ถ้าเป็นรัฐมนตรีที่เข้าใจนโยบาย และเป็นที่ยอมรับ ถูกคน ถูกที่ ถูกทาง ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ก็เชื่อว่าการปรับ ครม.จะไม่มีผลต่อเศรษฐกิจในเชิงลบ" นายธนวรรธน์กล่าว