นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานพร้อมส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนให้เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 30% ในอนาคตจากระดับ 10% ในปัจจุบัน โดยจะส่งเสริมการพัฒนาพลังงานชีวมวล ควบคู่พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อให้เกิดโรงไฟฟ้าผสมผสาน 3,000 เมกะวัตต์ (MW) และในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะมีโครงการพิเศษขึ้นมาราว 300 เมกะวัตต์ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป ) ในรูปการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองเหลือจึงขายเข้าระบบ แต่ทั้งนี้การส่งเสริมจะต้องไม่ส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าแพงขึ้น
ทั้งนี้ การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนดังกล่าวเป็นไปตามทิศทางของโลกที่ให้ความสำคัญต่อพลังงานสีเขียว พึ่งพาพลังงานทดแทนมากขึ้น ดังนั้น กระทรวงพลังงานก็เตรียมกำหนดกรอบระยะยาวไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลใน 10-20 ปีข้างหน้า โดยจะพัฒนาทั้งพลังงานทดแทนในส่วนของไฟฟ้าและยานยนต์ ซึ่งกรอบแผนงานจะกำหนดเสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้ โดยต้องครอบคลุมทุกส่วน เช่น สายส่งไฟฟ้า สายส่งฝ่ายจำหน่าย สมาร์ทกริด สมาร์ทมิเตอร์ สมาร์ทซิสเต็มส์
สำหรับความมั่นคงด้านพลังงานเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของทุกประเทศในอาเซียน โดยในส่วนของไทยประสบความสำเร็จด้านการพัฒนาพลังงาน ด้วยการผสมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน และการเข้าถึงตลาด การพัฒนาพลังงานทางเลือก โดยในส่วนของราคาพลังงานของไทยแม้ไม่ได้ต่ำที่สุดอย่างประเทศอื่น ๆ เพราะส่วนหนึ่งเป็นเรื่องภาษี แต่ราคาพลังงานก็อยู่ในเกณฑ์ที่สร้างอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท อย่างไรก็ตามปัจจุบันไทยก็กำลังดำเนินการหลากหลายด้านคบคู่กัน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถเข้าถึงบริการด้านพลังงานที่ทันสมัยและราคาไม่แพงและเชื่อถือได้, เพิ่มส่วนแบ่งของพลังงานหมุนเวียน ให้มีสัดส่วน 30% ในอนาคต
ด้านนางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) และกรรมการ บริษัท บ้านปู อินฟิเนอร์จี จำกัด กล่าวว่า เรื่องการส่งเสริมให้ประชาชนขายไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์รูฟท็อป เป็นเรื่องที่ดี และทางบริษัทสามารถเสนอราคาขายไฟฟ้าตามที่กระทรวงพลังงานกำหนดคือประมาณ 2.40 บาท/หน่วยได้ โดยเป้าหมายของบริษัทจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนในพอร์ตลงทุนเป็น 20% ของกำลังผลิตรวม 4,300 เมกะวัตต์ ในปี 68 จากปัจจุบันมีสัดส่วน 9% จากกำลังผลิตรวม 2,200 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ ในส่วนของ บ้านปู อินฟิเนอร์จี ซึ่งให้บริการด้านการวางระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบครบวงจรนั้น ขณะนี้มีการให้บริการพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว 12 เมกะวัตต์ และมีการลงนามข้อตกลงจะเพิ่มอีกราว 100 มกะวัตต์ และพร้อมจะให้บริการระบบสมาร์ทซิตี้ หากกฏระเบียบรัฐมีความชัดเจน เช่น ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) , เชียงใหม่ , ภูเก็ต เป็นต้น