กบร.ขยายอายุการใช้เครื่องบินขนส่งสินค้าเป็น 22 ปี พร้อมเห็นชอบแผนแม่บทตั้งสนามบินใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 6, 2018 18:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบปรับเกณฑ์อายุอากาศยานสำหรับการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Cargo) โดยขยายอายุเครื่องบินที่นำมาจดทะเบียนขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจขนส่งสินค้าจากเดิมไม่เกิน 18 ปี เป็น 22 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้สายการบินที่สนใจเข้ามาทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น ซึ่งปัจจุบันตลาดการขนส่งสินค้าทางอากาศเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะมีธุรกิจด้าน E-Commerce สนับสนุนเป็นโลจิสติกส์ เอวิเอชั่น ฮับ โดยอัตราการขนส่งสินค้าที่ผ่านมา ของโลกขยายตัวกว่า 3% ส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกขยายตัว 4% ขณะที่ประเทศไทยขยายตัว 3.6% ต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยมีปริมาณการขนส่งสินค้าที่ 2.9 ล้านตันต่อปี ขณะที่ IATA ประเมินว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า การขนส่งสินค้าทางอากาศของภูมิภาคเอเชียจะเติบโตเป็น 2 เท่าของปริมาณในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ที่ประชุม กบร.ได้เห็นชอบแผนแม่บทการจัดตั้งสนามบินพาณิชย์ของประเทศ ซึ่งเป็นแผนระยะยาวถึงปี 2579 และเห็นชอบแผนรักษาความปลอดภัยในการบินพลเรือนแห่งชาติ ที่มีการแก้ไขปรับปรุงการแก้ไขตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนตามโครงการ USAP-CMA เมื่อปี 2560 ซึ่ง ICAO ได้ตรวจสอบและพบข้อบกพร่องที่ไม่เป็นนัยสำคัญ แต่ถือเป็นจุดอ่อนที่ต้องแก้ไขโดยไทยได้แก้ไขและนำเสนอต่อ กบร.

ด้านนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า ปัจจุบันการหาเครื่องบินเพื่อนำมาใช้ในการขนส่งสินค้านั้นค่อนข้างลำบาก โดยตลาดจะมีเครื่องบินโดยสาร รุ่นโบอิ้ง 737 ปลดระวาง อายุเกิน 18 ปี ดัดแปลงและให้เช่าต่อ ดังนั้นข้อกำหนดเดิมอายุไม่เกิน 18 ปีเป็นข้อจำกัด จึงขยายอายุเป็น 22 ปี เพื่อให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ได้ง่ายขึ้นก่อนที่จะถูกต่างชาติแย่งไป และทำให้แข่งขันได้ เนื่องจากตลาดการขนส่งสินค้าทางอากาศมีแนวโน้มการเติบโตสูง และมีกำไรดีกว่าการขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยที่ให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศเพียงรายเดียว คือ เค-ไมล์ แอร์ และมีอีก 1 รายที่อยู่ระหว่างการ Re-AOC

สำหรับแผนแม่บทการจัดตั้งสนามบินนั้นเป็นกรอบในรอบ 20 ปี ซึ่งจะทำให้เห็นภาพความต้องการสนามบินเพิ่มซึ่งพบว่า ในรอบ 20 ปี จะต้องสนามบิน 2 แห่ง คือ เชียงใหม่แห่งที่ 2 และภูเก็ตแห่งที่ 2 ซึ่ง บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท.จะศึกษารายละเอียดการลงทุนต่อไป นอกจากนี้จะมีแผนในการขยายขีดความสามารถสนามบินที่มีอยู่เดิม ทั้งในความรับผิดชอบของ ทอท. และกรมท่าอากาศยาน (ทย.) โดยหลังจากกระทรวงคมนาคมจะเสนอ ครม.เพื่อรายงานเพื่อทราบต่อไป

ส่วนกรณีการแผนรักษาความปลอดภัยในการบินพลเรือนแห่งชาตินั้นเป็นการปรับปรุงแผนตามความเห็นของ ICAO และเสนอให้กบร.อนุมัติ แผนที่แก้ไขและจะแจ้งต่อ ICAO ต่อไป ซึ่งครั้งนี้จะทำให้สามารถปิดข้อบกพร่องที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยได้ทั้งหมด ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นรวม 49 ข้อนั้น เบื้องต้นดำเนินการได้เกือบหมด เหลือในส่วนของการออกใบอนุญาตสำหรับผู้ตรวจอาวุธ ซึ่งจะมีกระบวนการในการตรวจสอบ และใช้เวลาสักระยะ

อย่างไรก็ตามในการด้านการรักษาความปลอดภัยจะเกี่ยวข้องกับสนามบิน สายการบิน ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับแผน ส่วนที่จะเกี่ยวข้องกับผู้โดยสาร เช่น การพกพาสิ่งของติดตัวขึ้นเครื่องบิน ได้แก่ ข้อกำหนดเดิม กรรไกร มีดโกน ที่มีความยาวต่ำกว่า 6 ซม.สามารถนำติดตัวเครื่องบิน ซึ่งมาตรฐานสากลทำได้ แต่ที่ผ่านมาไทยห้ามเพราะกำหนดเข้มข้นกว่า ซึ่งหลังจากนี้สายการบินและสนามบินจะปรับปรุงคู่มือใหม่ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ