สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า ในปี 2561 อุตสาหกรรมอาหารไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและตลาดโลก โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 10% คิดเป็นมูลค่า 33,000 ล้านดอลลาร์ หรือหากคิดในรูปของเงินบาทจะขยายตัวได้ 5.3% ที่มูลค่า 1.07 ล้านล้านบาท
พร้อมมองแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้น 9.8% คิดเป็นมูลค่า 17,150 ล้านดอลลาร์ หรือในรูปของเงินบาทจะเพิ่มขึ้น 8.6% คิดเป็นมูลค่า 562,156 ล้านบาท โดยมูลค่าการส่งออกอาหารในรูปเงินบาทมีการขยายตัวสูงกว่าในช่วงครึ่งปีแรกจากผลของเงินบาทที่อ่อนค่าลง
ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่จะส่งผลต่อการดำเนินงานของภาคธุรกิจรวมทั้งการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารไทยในครึ่งปีหลัง ได้แก่ 1.เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง 2.ผลผลิตวัตถุดิบการเกษตรที่มีเพียงพอต่อความต้องการแปรรูป 3.นโยบายสนับสนุนการส่งออกเชิงรุกของรัฐบาล
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ได้แก่ สถานการณ์การเมืองโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง, ความผันผวนของเงินบาทที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น, ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ รวมถึงราคาพลังงานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และภาวะการขาดแคลนแรงงานทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม