BAY คาด GDP ปี 61 โต 4.7% จากส่งออก-ท่องเที่ยว-ลงทุนภาครัฐ-EEC เป็นแรงขับเคลื่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 5, 2018 14:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายตรรก บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยว่า ทิศทางค่าเงินบาทในช่วงครึ่งหลังของปี 61 ยังมีแนวโน้มผันผวนจากเศรษฐกิจโลกที่อาจเติบโตชะลอลงในระยะข้างหน้า ประกอบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะกระทบต่อการลงทุนทั้งในตลาดเกิดใหม่ (emerging market) และประเทศไทยเองจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยประเมินว่าในไตรมาสที่ 3/61 เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.50-32.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และในไตรมาสที่ 4/61 เคลื่อนไหวในกรอบ 30.25-32.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ยังต้องติดตามปัจจัยที่มีผลกระทบต่อค่าเงินบาท คือ การปรับสมดุลนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 0.50% หรืออีก 2 ครั้งในปีนี้ โดยยังต้องติดตามดูว่าจะมีกระทบต่ออัตราผลตอบแทน yeild curve ของสหรัฐเพียงใด ประกอบกับท่าทีของธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ ที่ประเมินว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะมีการยุติมาตรการ QE ก่อนสิ้นปีนี้ ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะยังคงรักษานโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป

ส่วนประเทศในภูมิภาคเอเชียได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้วบางประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งยังต้องติดตามแนวโน้มการเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ไปสู่ระดับ 1.75% จาก 1.50% ในปีนี้

ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่า GDP ของไทยปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 4.7% โดยได้รับผลดีจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่กระจายตัวมากขึ้น จากแรงขับเคลื่อนหลักของภาคการส่งออกและท่องเที่ยว สู่สัญญาณการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน อีกทั้งยังมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และนโยบายลงทุนเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน อาทิ โครงการ Eastern Economic Corridor (EEC) ซึ่งจะช่วยหนุนความเชื่อมั่นการลงทุนภาคเอกชน ส่งผลให้พันธบัตรรัฐบาลไทยมี yeild สูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังคาดว่ารายได้ภาคการเกษตรผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา และปัจจุบันประเทศไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงเกิน 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นอันดับที่สองรองจากประเทศสิงคโปร์ อย่างไรก็ดี ยังแนะนำนักลงทุนให้ติดตามเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ในระยะต่อไป ได้แก่ การประชุมร่วมผู้นำสหรัฐและเกาหลีเหนือ (12 มิ.ย.61), การประชุมอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (12-13 มิ.ย.61), การประชุมดอกเบี้ย กนง. (20 มิ.ย.61), การเปิดเผยแผนปรับลด QE ธนาคารกลางยุโรป (ช่วงไตรมาสที่ 2-3/61), ประธานเฟดแถลงนโยบายต่อสภาฯ (ไตรมาสที่ 3/61), การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ (ไตรมาสที่ 4/61) และการเลือกตั้งในประเทศไทย (ไตรมาสที่ 1/62)

นายตรรก กล่าวอีกว่า ในอนาคตมีโอกาสที่ค่าเงินดอลลาร์จะผันผวนได้ ซึ่งนักลงทุนหรือกลุ่มบริษัทส่งออกควรมีเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากการผันผวนของค่าเงิน โดยช่องทางการทำธุรกรรมผ่าน ACCD (Appointed Cross Currency Dealer) หรือบริการธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินสองสกุล จะทำให้นักลงทุนลดขั้นตอนการทำธุรกรรมปริวรรตเงินตรา และลดความเสี่ยงจากการผันผวนของดอลลาร์ได้ เนื่องจากไม่ต้องนำเงินบาทไปแลกเป็นดอลลาร์ก่อน ซึ่งจากเดิมไม่สามารถทำธุรกรรมปริวรรตเงินตราท้องถิ่นได้ เพราะติดเงื่อนไขการควบคุมกระแสเงินทุนจากภาครัฐ

ทั้งนี้ ในปัจจุบันธนาคารกรุงศรีอยุธยามีความพร้อมสำหรับการทำธุรกรรม ACCD โดยได้มีการร่วมมือกับพันธมิตรต่างประเทศ อาทิ ธนาคาร MUFG (Mitsubishi UFJ Financial Group) เพื่อแลกเปลี่ยนสกุลเงินริงกิตมาเลเซียและไทยบาท (MYR-THB), และธนาคาร Bank Rakyat Indonesia (BRI) เพื่อแลกเปลี่ยนสกุลเงินรูเปียอินโดนีเซียและไทยบาท (IDR-THB) และมีการทำ Local Settlement ในปีนี้ด้วย

https://www.youtube.com/watch?v=VluUJ4ti1Ww


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ