พาณิชย์ จัดกิจกรรมเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการไทยเจาะตลาดอาหารในเกาหลี ตั้งเป้าส่งออกโต 12%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 12, 2018 11:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในปีนี้ประเทศไทยตั้งเป้าหมายเข้าสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรมสร้างสรรค์ด้านอาหาร หรือ "Creative Food" โดยกรมฯ ได้มีการจัดนิทรรศการเพื่อแสดงศักยภาพประเทศในฐานะครัวสร้างสรรค์ของโลก ตามนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของรัฐบาล โดยเฉพาะ SMEs จะได้เกิดการพัฒนาความคิด นำข้อได้เปรียบจุดแข็งของอุตสาหกรรมอาหารไทยด้านความหลากหลายของวัตถุดิบ และรสชาติอาหารไทยที่มีเอกลักษณ์ มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ ต่อยอดให้แบรนด์สินค้า

ในปี 2561 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้จัดกิจกรรมผลักดันการส่งออกสินค้าอาหารไปตลาดเกาหลี เช่น การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า Seoul Food & Hotel 2018 งาน Seoul International Seafood Show 2018 และงาน Thai Festival in Seoul 2018 เป็นต้น

เกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับ 10 ของไทย มูลค่าการค้ารวมปี 2560 ประมาณ 12,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12.36% โดยในปี 2561 ตั้งเป้าหมายการส่งออกไปเกาหลีขยายตัว 12% เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่พึ่งพิงการนำเข้าสินค้าอาหารมากกว่า 50% จึงยังเป็นตลาดที่มีโอกาสสำหรับสินค้าอาหารของไทย สินค้าสำคัญ ได้แก่ ไก่แปรูป อาหารทะเลแปรรูป ปลาหมึกสด/แช่แข็ง ผลไม้สด/แช่เย็นแช่แข็ง ผลไม้กระป๋อง/แปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี และผักกระป๋อง/แปรรูป ซึ่งมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วน 7.2% ของมูลค่าการส่งออกของไทยไปเกาหลี

นาย Stanley Park ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานสัมมนาเสริมสร้างความรู้ทางการค้าสินค้าอาหารไทยสู่สากล ในช่วงวันเจรจาการค้างานแสดงสินค้า THAIFEX 2018 ภายใต้หัวข้อ "Creative Lab for Thai Foods to the World Cuisine"ว่า สิ่งสำคัญคือผู้ประกอบการต้องเข้าใจแนวโน้มผู้บริโภคในแต่ละตลาด โดยต้องรู้วัฒนธรรมการรับประทานอาหารของแต่ละประเทศว่าชื่นชอบการทานอาหารในแบบใด รวมถึงต้องรู้ว่าแต่ละชนชาตินั้นมักรับประทานอะไรเป็นเครื่องเคียงหลัก เช่น ในเกาหลีมักนิยมทานอาหารคู่กับกิมจิ ซึ่งในไทยนิยมใส่น้ำปลาในอาหารก่อนจะทาน รวมถึงใส่ไข่ดาวทานคู่กับอาหารจานเดียว เช่น ข้าวผัดกระเพราคู่กับไข่ดาวราดน้ำปลา เป็นต้น

นอกจากนั้นควรต้องสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้บริโภค เพราะวัตถุดิบแต่ละประเทศบางอย่างมีความคล้ายคลึงกัน เช่น พริกขี้หนูไทยแตกต่างจากพริกอินเดีย หรือการทำแกงกะหรี่ของญี่ปุ่นมีความแตกต่างจากการทำปูผัดผงกะหรี่ของไทย อีกทั้งควรปรับรสชาติอาหารให้เข้ากับรสนิยมของลูกค้าอีกด้วย

Mr.Park กล่าวว่า การเริ่มต้นสร้างผลิตภัณฑ์และเลือกสินค้าในการส่งออกนั้นควรจะมีการทำวิจัยกลุ่มผู้บริโภค รวมถึงต้องมีความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตสินค้าและนำเสนอต่อผู้บริโภค เช่น การเปลี่ยนชื่อน้ำจิ้มไก่ไทยเป็น Sweet Source for Cooking เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้บริโภคว่าน้ำจิ้มดังกล่าวสามารถทานคู่กับอะไรก็ได้ รวมทั้งการสร้างเมนูใหม่เพื่อเพิ่มทางเลือกในการใช้ Sweet Source for Cooking ซึ่งนอกจากการเปลี่ยนชื่อสินค้าแล้วยังต้องศึกษากระแสนิยมในการรับประทานอาหารของชาวเกาหลี พบว่า หนุ่มสาวโสดมักนิยมทานแซนวิชมากกว่าอาหารจานหลัก จึงนำแป้งแบบแมกซิกันใส่เนื้อสัตว์ ผัก และราดด้วยน้ำจิ้มไก่ไทย เกิดเป็นอาหารรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในเกาหลี อย่างไรก็ดี การนำสินค้าอาหารไปจำหน่ายในเกาหลี ผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษามาตรฐานและข้อจำกัด กฎระเบียบต่างๆ ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ด้วย

Mr.Park กล่าวว่า ความซื่อสัตย์ต่อคู่ค้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ผู้ประกอบการต้องสร้างความน่าเชื่อถือโดยมีความจริงใจ อย่าบิดเบือนข้อมูลลูกค้านำเสนอคุณประโยชน์เกินจริง เช่น การจัดทำฉลากสินค้าที่ชัดเจน ประกอบด้วยข้อมูลส่วนผสมและสัดส่วนตามความเป็นจริง เมื่อสร้างความน่าเชื่อถือได้ การจะนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ลูกค้าก็จะเป็นเรื่องง่ายเพราะลูกค้ามีความรักและมั่นใจในคุณภาพของสินค้า ซึ่งจะทำให้สินค้าของเราอยู่ในตลาดได้ในระยะยาวอีกด้วย

สำหรับ Mr.Stanley Park เป็น President CEO บริษัท Coman Foods ผู้นำเข้าอาหารและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ มีประสบการณ์ในการนำเข้าอาหารไทยกว่า 23 ปี จนได้ชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อของวงการอาหารไทยในเกาหลี และในฐานะ HTA ได้ส่งเสริมการพัฒนาสินค้าอาหารของไทยและผลักดันเข้าสู่ตลาดเกาหลีใต้อย่างต่อเนื่อง นอกจากการบรรยายให้ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่ตลาดเกาหลีใต้แล้ว Mr. Park ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการอาหารไทยกว่า 50 รายเข้ารับคำปรึกษาเป็นรายบริษัทแบบเจาะลึกเพื่อพัฒนาศักยภาพและสร้างสรรค์สินค้าอาหารของตนให้ตรงกับความต้องการของตลาดโสมขาวอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ