นายอัฐพล จิรวัฒน์จรรยา รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) คาดการณ์แนวโน้มการลงทุนใหม่ในช่วงครึ่งปีหลังจะเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 5 -10% หรือประมาณ 18,000 ล้านบาท โดยมีปัจจัยดึงดูดสำคัญ อาทิ การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ เช่น โครงการรถไฟทางคู่ และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะช่วยสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในการลงทุน พร้อมกับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการหลังจากมีการประกาศ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา และความคืบหน้าของนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน ที่จะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่เน้นการใช้ประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ CLMV โดยเฉพาะนิคมฯ ยางพารา และนิคมฯ สระแก้ว ที่พร้อมเปิดอย่างเป็นทางการภายในปลายปีนี้
ปัจจุบัน กนอ. มีนิคมอุตสาหกรรม 56 แห่ง ใน 16 จังหวัด โดยมีพื้นที่สำหรับขาย/เช่า (รวมพื้นที่ระบบสาธารณูปโภค) ประมาณ 166,063 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่ขายและเช่าแล้วจำนวน 87,718 ไร่ และคงเหลือพื้นที่พร้อมสำหรับขาย/เช่า อีกจำนวน 20,695 ไร่ สำหรับมูลค่าการลงทุนสะสมทั้งสิ้น 3.149 ล้านล้านบาท มีผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม 4,583 ราย และมีการจ้างงานรวมทั้งสิ้น 607,102 คน
สำหรับผลประกอบการจากการดำเนินงานของ กนอ. ในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2561 (ต.ค.60 – มี.ค.61) พบว่ามียอดพื้นที่ขาย/เช่า จำนวน 827 ไร่ มีเงินลงทุนรวมกว่า 16,400 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานกว่า 1,868 คน โดยการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจสูงสุด ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมคลังสินค้า 2) อุตสาหกรรมยาง พลาสติกและหนังเทียม 3) อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง 4) อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร และอะไหล่ และ 5) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือวิทยาศาสตร์
นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา พบว่า 5 อันดับนักลงทุนต่างชาติที่มีการลงทุนมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์