นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. ...
โดยสาระสำคัญ นอกจากจะเปลี่ยนชื่อใหม่แล้ว ยังกำหนดให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน บวกประธาน 1 คนและกรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เลขาสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน รวมถึงเลขาธิการสภาพัฒน์ รวมกรรมการทั้งหมด 24 คน
โดยที่สภาพัฒน์จะมีอำนาจในการกำหนดกรอบทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและสภาทางเศรษฐกิจของประเทศและของโลก เพราะตอนนี้มีทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูป และสภาพัฒน์เป็นหน่วยงานที่สำคัญในการขับเคลื่อนทั้งสองแผนนี้ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในการจัดทำร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีหน้าที่ให้ความเห็น คำปรึกษา ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแผนงานและโครงการพัฒนา และยังมีหน้าที่พิจารณาข้อเสนองบประมาณประจำปีของรัฐวิสาหกิจซึ่งไม่ใช่บริษัทมหาชน
ทั้งนี้ สภาพัฒน์มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องเพื่อดำเนินการในเรื่องที่เห็นว่ามีความจำเป็นจะต้องพิจารณาตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายเป็นพิเศษ
ส่วนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดว่าต้องมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุกๆ 5 ปีโดยจะต้องสอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ สภาพการณ์เศรษฐกิจและสังคมของประเทศและของโลก โดยกำหนดชัดเจนว่าจะต้องมีเนื้อหาด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านการพัฒนาเมืองและภูมิภาค ด้านการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และนอกจากนี้จะต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วย ซึ่งสภาพัฒน์จะมีอำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในแต่ละด้านด้วย
นอกจากนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้หากสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมของโลกเปลี่ยนแปลงไป และเมื่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประกาศใช้แล้ว หน่วยงานของรัฐก็จะมีหน้าที่จัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีและจะต้องรายงานผลการปฏิบัติงานและการประเมินผลการปฏิบัติการของราชการต่อสำนักงานด้วยทุกปี
"จะสังเกตได้ว่าในกฎหมายนอกจากจะกำหนดชัดเจนว่าในตัวแผนจะต้องมีหัวข้ออะไรบ้าง หลังกำหนดแล้วแผนนี้ถ้าสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไปสามารถแก้ไขปรับปรุงได้ และพอมีแผนแล้วหน่วยงานราชการจะต้องนำไปปฏิบัติไม่ใช่มีแต่แผนเอาไว้ขึ้นหิ้งเฉยๆ เมื่อปฏิบัติแล้วยังจะต้องประเมินทุกปีว่าได้ทำตามแผนหรือเปล่า"
ในส่วนของสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สามารถตั้งคณะกรรมการประสานการดำเนินการด้านยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์ ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งสามารถแต่งตั้งบุคคลไม่ว่าจากภาครัฐหรือเอกชนเป็นคณะกรรมการชำนาญการในแต่ละด้านเพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์ปัญหาการพัฒนาของประเทศ ติดตามสภาพการณ์ทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของโลก และเสนอแนะการกำหนดเป้าหมายระดับนโยบาย
โดยในบทเฉพาะกาลกำหนดไว้ว่ากรรมการสภาพัฒน์ชุดปัจจุบัน จะสามารถทำหน้าที่ต่อไปได้อีกไม่เกินร 180 วันนั้นตั้งแต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ส่วนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 นั้น ก็ยังสามารถใช้ต่อไปได้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565