พาณิชย์ แนะผู้ประกอบการไทยพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าออร์แกนิคให้ได้มาตรฐาน USDA เพิ่มโอกาสชิงส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 13, 2018 11:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคในต่างประเทศมีความสนใจเรื่องอาหารสุขภาพมากขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมุ่งเน้นไปที่ความสะอาดปลอดภัยเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงมุ่งส่งเสริมให้ความรู้แก่เกษตรกรตั้งแต่ภาคการผลิต เพื่อให้ผลผลิตมีมาตรฐานมากขึ้น ซึ่งสินค้าปลอดสารพิษหรือผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคมีกระบวนการผลิตที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด และยังเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศในขณะนี้ โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีความนิยมสินค้าออร์แกนิคสูง โดยมีมูลค่าการซื้อขายเกือบ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว

ทั้งนี้จากผลสำรวจจาก Organic Trade Association สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก ได้รายงานการซื้อขายสินค้าอาหารออร์แกนิคในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ความต้องการสินค้าออร์แกนิคมีอัตราการปรับตัวดีขึ้น โดยยอดจำหน่ายสินค้าในปี 2560 มีมูลค่ารวมสูงถึง 4.94 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากปี 2559 ที่เคยมีมูลค่าอยู่ที่ 4.57 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นการขยายตัวมากที่สุดถึงร้อยละ 6.4 เป็นการตอกย้ำว่าสินค้าอาหารอินทรีย์มีอัตราการเติบกว่าภาพรวมของอาหารทั้งหมดจนมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 5.5 ของอาหารที่จำหน่ายช่องทางค้าปลีกในสหรัฐอเมริกาทั้งนี้แม้การขยายตัวภาพรวมในปี 2560 ยังไม่ดีเท่าในปี 2559 ที่ขยายตัวร้อยละ 9 ผลมาจากการชะลอตัวการผลิตนมและไข่ แต่ก็ถือเป็นสินค้าทีมีอัตราขยายตัวมากกว่าสินค้าอาหารรวมที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.1 เท่านั้น

"ตลาดการซื้อขายสินค้าอาหารออร์แกนิคในสหรัฐอเมริกาอยู่ในทิศทางเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2540 มีการซื้อขายเพียง 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ปี 2560 มีมูลค่าสูงถึง 4.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นเกือบ 15 เท่า ซึ่งถือเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะเวลา 20 ปีเท่านั้น" นางจันทิรา กล่าว

อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับสินค้าอาหารออร์แกนิคที่มีมูลค่าสูงสุดในปี 2560 คือผักและผลไม้ ซึ่งมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1.65 หมื่นเหรียญสหรัฐ มีอัตราการเติบโตร้อยละ 5.3 ด้านเครื่องดื่มออร์แกนิคก็เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ปี 2560 มีมูลค่ากว่า 5.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ อัตราการขยายตัวถึงร้อยละ 10.5 โดยเฉพาะน้ำผลไม้สดที่มีมูลค่าอยู่ที่ 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีการขยายตัวถึงร้อยละ 25 ส่วนเครื่องดื่มนมทางเลือกอย่างนมอัลมอนด์, นมถั่วเหลือง, นมมะพร้าว, นมข้าว และนมที่ไม่ได้มาจากสัตว์ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในปี 2560 เช่นเดียวกัน

"ความนิยมในเครื่องดื่มออร์แกนิคที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเสริมคุณภาพการผลิต อีกทั้งยังเป็นสินค้าสำหรับผู้บริโภคที่รักสุขภาพจนปัจจุบันเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพกลายเป็นสินค้าที่ครองอันดับ 3 ของสินค้าอาหารออร์แกนิคทั้งหมด" นางจันทิรา กล่าว

ขณะที่อาหารออร์แกนิคที่ได้รับโจทย์ท้าทายที่สุดนั้นคือนมและไข่ โดยผลิตภัณฑ์นมออร์แกนิคประสบปัญหาเรื่องของปริมาณสินค้าที่มากกว่าความต้องการทำให้เกิดภาวะสินค้าล้นตลาด อย่างไรก็ดีสินค้าที่ล้นตลาดได้มีการแปรรูปเป็นสินค้าอื่นเช่น ไอศกรีมออร์แกนิคและชีสออร์แกนิคทำให้มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 และร้อยละ 8 ตามลำดับขณะที่ผลิตภัณฑ์ไข่ ออร์แกนิคเจอข้อจำกัดด้านการผลิตที่ต้องเป็นธรรมชาติมากที่สุด คือการเลี้ยงแบบทุ่งเลี้ยงสัตว์(Pasture-raised eggs) หรือเลี้ยงไก่นอกกรงเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมากสำหรับผู้เลี้ยงไก่ไข่

ตลาดสินค้าออร์แกนิคในประเทศสหรัฐอเมริกาถือเป็นตลาดที่น่าสนใจอีกตลาดหนึ่ง ซึ่งสินค้าไทยส่วนใหญ่ก็เน้นการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติอยู่แล้ว เกษตรกรหรือผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้าร่วมตลาดสินค้าออร์แกนิคเพียงปรับเปลี่ยนขั้นตอนหรือกระบวนการผลิตเพื่อให้เข้ากับหลักเกณฑ์การเป็นสินค้าออร์แกนิค ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้ และถ้าสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์พร้อมควบคุมมาตรฐานสินค้าให้เป็นไปตาม USDA กำหนดเพื่อให้ได้รับตราสัญลักษณ์ USDAorganic ซึ่งเป็นเสมือนกุญแจเพื่อเปิดประตูการค้าสู่ตลาดสินค้าออร์แกนิคในประเทศสหรัฐฯ ก็จะมีโอกาสขยายฐานการตลาด เพิ่มมูลค่าการซื้อขายได้มากขึ้นอย่างแน่นอน โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองมาตรฐานออร์แกนิคในสหรัฐฯ กว่า 24,000 ราย แต่มูลค่าการซื้อขายในตลาดออร์แกนิคมีสูงถึง 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จึงถือว่ายังมีโอกาสอีกมากที่ผู้ประกอบการของไทยที่มีความพร้อมจะเข้าไปแข่งขันและช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดนี้ เพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเองและประเทศได้อีกมากทีเดียว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ