นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี จากสถานีศรีรัชเข้าเมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กม. และโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ต่อขยายเส้นทางไปตามถนนรัชดาภิเษกสิ้นสุดบริเวณแยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม.นั้น รฟม.อยู่ระหว่างศึกษาส่วนต่อขยายทั้ง 2 เส้นทางใกล้แล้วเสร็จ ทั้งการการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (Public Hearing) และการออกแบบแนวเส้นทางการก่อสร้าง
โดย รฟม.เตรียมเสนอคณะกรรมการ รฟม.พิจารณาเห็นชอบโครงการดังกล่าวภายในเดือน ก.ค.นี้ จากนั้นตามขั้นตอนจะต้องเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) หากเห็นชอบก็จะต้องเสนอต่อคณะกรรมการมาตรา 43 พ.ร.บ.เอกชนร่วมทุนฯ เพื่อให้พิจารณาโครงการว่าจะให้เป็นโครงการส่วนต่อขยายสายสีชมพูและเหลืองเดิม ทั้งนี้ คาดว่าจะดำเนินการได้เสร็จสิ้นภายในปีนี้
กลุ่มกิจการร่วมค้า BSR (ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH)) ได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมดังกล่าวต่อ รฟม. ไว้ในการสร้างส่วนต่อขยายสายสีชมพู จากสถานีศรีรัชเข้าไปยังเมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กม. และส่วนต่อขยายสายสีเหลืองจากสถานีรัชดาไปเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ถนนพหลโยธินบริเวณใกล้สีแยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม.โดยใช้งบประมาณของกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR เองทั้งหมด 6 พันล้านบาท ซึ่งจะรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ด้วย โดยกลุ่ม BSR เชื่อว่าหากมีการเพิ่มส่วนต่อขยายสายสีชมพูและสีเหลือง จะทำให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มมากกว่าที่คาดไว้เดิมที่สายละ 120,000 เที่ยวคน/วัน ในปีแรกที่เปิดดำเนินการ
ในวันนี้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน และอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีชมพู ระหว่างกรมทางหลวง โดยนายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
ภายหลังการลงนามในครั้งนี้ กรมทางหลวงจะส่งมอบพื้นที่ถนนที่เส้นทางรถไฟฟ้าทั้งสองสายวิ่งผ่านให้แก่รฟม. สำหรับระยะเวลาใช้พื้นที่ถนนของกรมทางหลวง 39 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายนนี้ เป็นต้นไป ซึ่งล่าช้าไปประมาณ 3 เดือน
กรมทางหลวงได้ส่งมอบพื้นที่ใช้ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงติวานนท์ - แจ้ววัฒนะ และช่วงหลักสี่-รามอินทรา ส่วนสายสีเหลือง ส่งมอบช่วงศรีนครินทร์ ขณะที่ เส้นทางก่อสร้างสายสีเหลือง เจ้าของพื้นที่มีทั้งกรมทางหลวงและกทม. ซึ่งกทม.ได้ส่งมอบพื้นที่บริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว และแยกลำสาลี เข้าถนนศรีนครินทร์
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ระยะทางทั้งสิ้น 34.5 กิโลเมตร รวม 30 สถานี ซึ่งเริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ บริเวณใกล้แยกแคราย วิ่งไปตามถนนติวานนท์จนถึงห้าแยกปากเกร็ด จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าถนนแจ้งวัฒนะผ่านเมืองทองธานี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่แยกหลักสี่บริเวณริมถนนวิภาวดีรังสิต และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ บนถนนพหลโยธิน บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ จากนั้นวิ่งไปบนถนนรามอินทราจนถึงแยกมีนบุรี แล้ววิ่งเข้าสู่เมืองมีนบุรี ตามแนวถนนสีหบุรานุกิจ จนถึงสะพานข้ามคลองสามวา จึงเลี้ยวขวาข้ามคลองแสนแสบและข้ามถนนรามคำแหง หรือถนนสุขาภิบาล 3 สิ้นสุดสถานีปลายทางที่บริเวณใกล้แยกถนนรามคำแหง-ร่มเกล้า ซึ่งจะบรรจบกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางกะปิ-มีนบุรี
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เป็นระบบขนส่งมวลชนประเภทรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Straddle Monorail) มีลักษณะเป็นโครงสร้างยกระดับตลอดแนวเส้นทาง มีระยะทางทั้งสิ้น 30.4 กิโลเมตร รวม 23 สถานี แบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงรัชดา/ลาดพร้าว – พัฒนาการ และช่วงพัฒนาการ – สำโรง หรือโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง โดยเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสายสีน้ำเงินที่สถานีรัชดา (สถานีลาดพร้าวของสายสีน้ำเงิน) กับระบบขนส่งมวลชน 4 สาย คือ สายสีเทาของกรุงเทพ สายสีส้มบริเวณทางแยกลำสาลี รถไฟเชื่อมต่อท่าอากาศยาน (Airport Rail Link) บริเวณทางแยกต่างระดับพระราม 9 และสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่สถานีสำโรง
ทั้งนี้ รฟม.กำหนดเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูในเดือนต.ค. 64
นายภคพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเดือน ก.ค.ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถนำบัตรมาใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางซื่อ) และสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ และระยะถัดไปจะใช้ได้กับแอร์พอร์ต เรล ลิ้งก์ และ ขสมก.ตามลำดับ ซึ่งในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถนำไปใช้กับระบบขนส่งมวลชนได้ 250 บาทจากเงินที่มีอยู่ทั้งหมด 500 บาท
ผู้ว่าฯ รฟม. คาดว่า จากการที่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถใช้ได้กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสีม่วง จะช่วยทำให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในวันที่ 22 มิ.ย. รฟม.จะแจกบัตรแมงมุมหรือบัตรตั๋ว ร่วมจำนวน 2 แสนบัตรตามสถานีรรถไฟฟ้าสายสีม่วงทุกสถานี