นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยในงานสัมมนา "ส่องทิศทางเศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลัง" ว่า เศรษฐกิจโลกในครึ่งปีแรกถือว่ายังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศสหรัฐฯ และยุโรป แม้จะมีกระแสความกังวลในเรื่องของสงครามการค้าค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่ได้เห็นผลกระทบที่ชัดเจน ซึ่งถือว่าปัจจัยดังกล่าวยังเป็นเรื่องที่สำคัญที่ยังคงต้องมีการติดตามกันต่อ เนื่องจากหากการค้าชะลอตัวลง การส่งออก นำเข้า ก็จะชะลอตามไปด้วย
ทั้งนี้มองเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลังน่าจะคล้ายกลับต้นปีที่ผ่านมา ที่ยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐฯ และจีน ที่ยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากมีเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในปีนี้น่าจะปรับขึ้นได้ทั้งหมด 4 ครั้ง จากเดิมที่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยจำนวน 3 ครั้ง โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งต่อไป ตลาดก็มีการคาดการณ์ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนก.ย.นี้ และจะปรับขึ้นอีกทีหนึ่งในช่วงสิ้นปี 61
ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุด มองว่าในระยะสั้น 2-4 สัปดาห์นี้ อาจจะส่งผลกระทบให้มีเงินทุนไหลออก จนทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงไปอยู่ที่ 32.40 -32.50 บาท/ดอลลาร์ แต่เชื่อว่าในช่วงสิ้นปีเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าขึ้น มาอยู่ที่ระดับ 32 บาท เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังเกินดุลในระดับสูง แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าไม่น่าจะกระทบต่อการตัดสินใจ ด้านนโยบายดอกเบี้ยของไทย ที่จะส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นตามในปีนี้ เนื่องจากไทยยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง จากการส่งออกและท่องเที่ยว ที่ยังมีเม็ดเงินเข้ามาจำนวนมาก และจากเศรษฐกิจภายในประเทศขณะนี้ ที่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ จนยังไม่น่ามีผลต้องขยับขึ้น โดยกสิกรไทยยังคาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย (GDP) ยังคงเติบโตอยู่ที่ 4.2% และการส่งออก 7-8%
นายกอบสิทธิ์ กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของกนง. น่าจะเห็นได้ในช่วงไตรมาส 1/62 เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม จากการเลือกตั้งเป็นไปตามโรดแมพ ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการบริโภค ภาคการเกษตร ที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น ทำให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น
"ประเทศเรามีดุลบัญชีเดินสะพัดสูง และเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ที่ 1% จึงมองว่าเรายังไม่มีความจำเป็นที่จะขึ้นดอกเบี้ยในขณะนี้ โดยในปีนี้คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะยังเกินดุลอยู่ที่ 3.7-3.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และเงินยังไหลเข้ามากกว่าไหลออก"
ด้านนางสาวกริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการ ด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลังนี้ยังคงเติบโตดีต่อเนื่อง ทั้งในประเทศสหรัฐฯ,ยุโรป, จีน และญี่ปุ่น เป็นต้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่มีการเติบโตได้ค่อนข้างดี เห็นได้จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และการดำเนินนโยบายลดภาษีของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ส่งผลทำให้ภาคธุรกิจมีเงินเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปใช้ในการลงทุนและจ้างงาน แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าปัจจัยภายนอกโดยรวมจะดูค่อนข้างดี แต่ยังมีความเสี่ยงในเรื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ เนื่องจากมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
"เรามองว่า Trade War มันก็เหมือนกับการสร้างความผันผวน แต่ว่าจะทำให้มีการสู้รบกันจริงๆ ขนาดที่ทำให้เศรษฐกิจของตัวเองและของโลกเสียหายนั้น คงไม่ถึงขนาดนั้น เลยมองว่าเศรษฐกิจครึ่งปีหลังก็น่าจะมีการเติบโตดีต่อเนื่อง แต่อาจจะมีความผันผวนระหว่างทาง"
สำหรับเศรษฐกิจในประเทศไทยมองว่าก็ยังมีการเติบโตได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยว โดยการเติบโตในทั้ง 2 ส่วนนี้ก็ได้มีการกระจายตัวไปยังฐานราก ทำให้เริ่มเห็นกำลังซื้อกลับเข้ามามากขึ้น ,มีการจ้างงานมากขึ้น, มีการปรับขึ้นค่าจ้าง โดยในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นที่มากกว่าที่เคยมีมา อีกทั้งการลงทุนของภาคเอกชน ก็เริ่มมีดีมานด์เข้ามา เห็นได้จากในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา การใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่า 70% จากเดิมที่มีการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 50% ทำให้ภาคเอกชนจะต้องมีการลงทุน เพื่อรองรับงานที่จะเข้ามาในอนาคต อย่างไรก็ตามมองว่าการลงทุนของภาคเอกชนก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนมีการซบเซามานาน
ด้านการลงทุนภาครัฐในครึ่งปีหลังนี้ มองว่าภาครัฐจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก แต่อาจจะไม่ได้ใช้เม็ดเงินจำนวนมากเหมือนในปีที่ผ่านมา
ส่วนปัจจัยเสี่ยงในครึ่งปีหลังนี้ที่ยังเป็นกังวล ส่วนใหญ่จะมาจากปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก ได้แก่ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ที่ขณะนี้อยู่ในระดับ 70 เหรียญต่อบาร์เรล และราคายางพาราที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นมาเล็กน้อย แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำอยู่ มองว่าอาจทำให้ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นบ้าง เนื่องจากต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้นมา แต่เมื่อเทียบกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น การจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และการปรับโครงสร้างหนี้ของผู้ที่มีหนี้สิน ทำให้ประชาชนมีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยที่คล่องตัวมากขึ้น โดยทีดีอาร์ไอ ยังคงคาดการณ์ GPD ปีนี้เติบโต 4-4.5%