นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา หนึ่งในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กระจายโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ เผยแพรบทความเรื่อง "ทำไม? ไม่มีใครประมูลคลื่น 1800 MHz" และ "ไม่มีใครประมูลคลื่น 1800MHz ใครได้ใครเสีย ?" โดยระบุว่า สภาพการแข่งขันในตลาดก็จะอยู่ในสภาพเดิม โดยที่ไม่มีใครต้องแบกต้นทุนเพิ่ม เพราะการเข้ามาประมูลเพื่อให้ได้เปรียบคู่แข่งก็ตามมาด้วยต้นทุนค่าคลื่นที่เพิ่มขึ้น และถ้าคู่แข่งสามารถหาทางออกด้วยวิธีการอื่นที่ไม่ใช่การประมูล แถมมีต้นทุนที่ต่ำกว่า ผู้ชนะการประมูลก็อาจจะเจ็บตัวฟรี ยิ่งมีภาระค่าคลื่นเดิมที่ค้างจ่ายอีกหลายหมื่นล้าน ยิ่งต้องรอบคอบรัดกุม
การที่ผู้ชนะประมูลรายเดิมไม่เข้าประมูล ก็จะทำให้ไม่ต้องแบกภาระเพิ่ม แต่ก็เสียโอกาสที่จะทิ้งห่างคู่แข่ง แต่ในเมื่อทุกรายไม่เข้าร่วมประมูล การแข่งขันก็ไม่เปลี่ยนแปลง ผู้บริโภคก็ไม่มีทางเลือกอะไรใหม่ ยังต้องวนเวียนใช้บริการแบบเดิมๆ ไปก่อน
แต่หากผู้ชนะรายเดิมเข้าประมูลเพื่อบีบหรือทิ้งห่างคู่แข่ง ก็เท่ากับว่าเดินตามเส้นทางที่ กสทช. กำหนด คือการพยายามขายคลื่นในราคาแพงที่สุด และเอกชนก็คงต้องทนกับสภาพเส้นทางแบบนี้ในคลื่นอื่นๆ ที่จะประมูลในอนาคตอย่างเช่น คลื่น 700 MHz หรือ 2600 MHz รวมถึงคลื่นความถี่สูงมากๆ ที่จะนำมาใช้กับ 5G ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการให้บริการพุ่งสูงมาก จนอาจไม่คุ้มที่จะลงทุน จึงมีการส่งสัญญาณจากภาคเอกชนให้ กสทช. รู้ว่า ต้นทุนค่าคลื่นเริ่มเป็นปัญหาต่ออุตสาหกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ
จริงๆ แล้ว หลักการพื้นฐานของการประมูลคลื่น คือการคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากคลื่นได้สูงสุด ไม่ใช่ต้องการขายคลื่นให้ได้ราคาแพงที่สุด แต่สิ่งที่จะตัดสินว่าใครใช้ประโยชน์จากคลื่นได้ดีที่สุด ก็คือตัวเลขเงินที่เขาพร้อมจะจ่ายเป็นค่าคลื่น แล้วเอาคลื่นไปทำกำไร ถ้าทำกำไรไม่ได้ก็จะเจ๊ง จึงไม่ควรมีใครเสนอตัวเลขสูงเกินกว่าที่ตัวเองจะอยู่รอดได้ ส่วนใครที่ทำกำไรได้เก่งกว่าก็จะเสนอตัวเลขได้สูงกว่า กสทช. จึงใช้การประมูลเพื่อหาว่า รายใดสมควรได้คลื่นไปให้บริการ ซึ่งก็คือรายที่เสนอราคาคลื่นได้สูงสุด แต่ไม่ใช่ว่า กสทช. มีเป้าหมายที่จะหาเงินให้ได้มากที่สุดจากการประมูล
แต่เมื่อหน่วยงานกำกับดูแลหลงทางไปมุ่งเน้นการขายคลื่นให้ได้ราคาแพงที่สุด ผลเสียก็จะเกิดกับอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถแบกต้นทุนได้ และผู้บริโภคก็จะไม่สามารถรับบริการใหม่ๆ ได้ แต่ที่สำคัญ รัฐที่ต้องการได้เงินค่าคลื่นเป็นจำนวนมากก็เสี่ยงจะได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่ได้เลย
ในการประมูลคลื่น 1800 MHz ครั้งนี้ กระทรวงการคลังมีหนังสือถึง กสทช. ว่า ขอให้จัดประมูลและนำส่งรายได้จากการประมูลภายในปี 2561 ด้วย โดยกระทรวงการคลังประมาณการรายได้จากสมมติฐานว่าคลื่นทั้ง 45 MHz จะขายหมดและผู้ชนะการประมูลชำระเงินงวดแรกร้อยละ 50 ภายในเดือนกันยายนนี้ เมื่อไม่มีผู้เข้าประมูล ประมาณการรายได้ก้อนนี้จึงพลาดเป้าไปหลายหมื่นล้านบาท แผนการใช้งบประมาณของรัฐก็อาจสะดุดหรือต้องหารายได้ทางอื่นมาชดเชย
และเมื่อหมดสัมปทานแล้วเข้าสู่มาตรการเยียวยาก็ยังพบปัญหาในส่วนเงินนำส่งรัฐ เพราะการให้บริการตามมาตรการเยียวยาที่ผ่านมา ยังมีปัญหาการฟ้องคดี และมีการแจ้งในที่ประชุม กสทช.ว่ารัฐยังไม่ได้รับเงินแม้แต่บาทเดียว มาตรการเยียวยาครั้งใหม่นี้จะเหมือนหรือแตกต่างจากเดิม คงต้องติดตามกันต่อไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การไม่มีรายใดมาประมูลคลื่น 1800 MHz ครั้งนี้ ฝ่ายที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ ในทันทีคือรัฐ ไม่ใช่เอกชน หรือผู้บริโภคที่จะได้รับผลกระทบในระยะยาว
การใช้ ม.44 เพื่อขยายงวดชำระเงินก็ไม่ใช่ทางออก เพราะถ้าไม่จัดการราคาคลื่นให้เข้าสู่ราคาดุลยภาพ เอกชนก็ต้องเรียกร้องขอขยายงวดชำระเงินอยู่ร่ำไป การแก้ปัญหาการประมูลต้องคำนึงถึงประโยชน์ระยะยาวจากการก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มตัวของประเทศด้วย หากประเทศเรายังตกอยู่ในวังวนการเล่นเกมราคาคลื่นแบบเด็กเล่นขายของ สุดท้ายทุกฝ่ายจะเสียประโยชน์ ค่าเสียโอกาสในการตกขบวนความเปลี่ยนแปลงยุค 4.0 อาจจะไม่ใช่มีแค่มิติด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่จะกระทบถึงด้านสังคมและความมั่นคงด้วย การกำหนดราคาคลื่นและการออกแบบการประมูลจึงต้องใช้หลักการและการศึกษาที่มีวิชาการและเป็นมืออาชีพ และต้องไม่มุ่งเอาใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น เพราะทุกฝ่ายล้วนมีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้