นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงกรณี บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือ ดีแทค และ บมจ.บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือเอไอเอส ไม่เข้าประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ว่า หากเมื่อถึงสิ้นวันนี้ไม่มีผู้เข้าประมูล กสทช. จะเสนอเรื่องไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือรัฐบาลว่าจะเดินหน้าอย่างไรต่อไป โดยจะชี้แจงถึงปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้ไม่มีผู้เข้าประมูล ซึ่งรัฐบาลน่าจะมีแนวทางที่เป็นทางออก สำหรับการปรับหลักเกณฑ์เป็นเรื่องที่จะพิจารณาในอนาคต ส่วนการเปลี่ยนแปลงราคากสทช. คงปรับลดราคาลงไม่ได้ เพราะจะเกิดข้อครหากับสังคมเนื่องจากผู้ที่ประมูลได้ก่อนหน้านี้กำลังจะจ่ายค่าประมูลครบถ้วนแล้ว
"เราจะเดินหน้าขอความเห็นจากรัฐบาลและ คสช.ว่าควรดำเนินการต่อไปอย่างไร ติดขัดตรงไหนจะแก้ไขปัญหาตรงนั้น เราเสนอปัญหากับ คสช. แล้ว คสช. ยกเลิกปัญหาเรียบร้อยแล้วยังไม่มีผู้เข้าประมูลอีกคงต้องมีการพิจารณากัน เรื่องมาตรการเยียวยาขอให้ทำความเข้าใจว่า หลักของการเยียวยาเกิดขึ้นเมื่อประมูลคลื่นความถี่ไม่ทัน ที่ผ่านมาต้องมีมาตรการเยียวยาเพราะจัดประมูลคลื่นความถี่ไม่ได้ แต่ครั้งนี้กสทช.จัดประมูลขึ้นความถี่ล่วงหน้า ดังนั้นแนวทางในการดำเนินการเมื่อไม่มีผู้เข้าประมูลจึงต้องมีมาตรการและแนวทางที่เหมาะสมโดย กสทช.จะเสนอต่อรัฐบาลต่อไป"นายฐากร กล่าว
ด้าน พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช.ระบุว่า กสทช. จะเร่งทบทวนเพื่อปรับปรุงเงื่อนไขการเปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ว่าจะสามารถปรับหลักเกณฑ์ได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เพราะเมื่อไม่มีผู้เข้าร่วมประมูลถือว่าไม่ส่งผลดีต่อประเทศ
พร้อมย้ำว่า แม้การปรับปรุงหลักเกณฑ์จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 7-8 เดือน เนื่องจากต้องเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น แต่จะไม่มีใครได้ใช้คลื่นความถี่นี้ฟรีอย่างแน่นอน และเชื่อว่าจะไม่มีมาตรการใดมาบีบให้ กสทช.ทำตามความต้องการได้ เพราะ กสทช.ได้จัดประมูลล่วงหน้าก่อนคลื่นความถี่หมดอายุสัมปทานถึง 3 เดือน ดังนั้น ในช่วงเวลาก่อนคลื่น 1800 MHz จะหมดอายุสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย.61 ผู้ใช้บริการยังมีเวลาในการเปลี่ยนย้ายค่าย
ขณะที่นายฐากร ระบุอีกว่า สาเหตุที่ 2 ค่ายมือถือ คือ ทรู และเอไอเอส ไม่เข้าร่วมประมูล เนื่องจากมีภาระการชำระค่าใบอนุญาตเดิมอยู่สูง และหากมาร่วมประมูลก็จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับตัวเอง แต่กรณีของดีแทคที่ไม่เข้าร่วมประมูล เมื่อหมดอายุสัมปทานคลื่น 1800 MHz แล้วจะไม่สามารถถือครองคลื่นต่อไปได้ แม้จะไม่มีเอกชนรายใดมาถือครองคลื่นนี้ก็ตาม เพราะมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการตามเจตนารมณ์คือจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อเปิดประมูลคลื่นไม่ทันวันหมดอายุสัมปทานเท่านั้น
ดังนั้น หาก กสทช.สามารถเร่งแก้ปัญหาที่ติดขัดในประเด็นเรื่องเยียวยา และแนวทางช่วยเหลือหรือบรรเทาภาระเพื่อให้เอกชนเข้าร่วมประมูลได้ จากเดิมที่คาดว่าจะใช้เวลาตามกระบวน 8-9 เดือน ก็อาจจะได้เห็นการเปิดประมูลภายใน 1-2 เดือนนี้