ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด กนง. 20 มิ.ย.นี้ยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50% แต่จับตาสัญญาณนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 18, 2018 15:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ต่อเนื่องในการประชุม กนง.รอบที่สี่ของปี 2561 ในวันที่ 20 มิ.ย.นี้ แต่จุดสนใจของการประชุมในรอบนี้อยู่ที่การประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยสภาวะเศรษฐกิจไทยมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในภาคการบริโภคและการลงทุน จากตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 1/2561 ที่สะท้อนถึงการขยายตัวเพิ่มขึ้นขององค์ประกอบ GDP ในทุกองค์ประกอบ ในขณะที่เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1.0-4.0%

ทั้งนี้ หากภาพเศรษฐกิจของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2561 ยังสามารถรักษาระดับการเติบโตไว้ได้อย่างต่อเนื่อง กนง. อาจจะมีการพิจารณาทบทวนถึงความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินเพื่อให้มีความสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจไทย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของภาพตลาดการเงินของโลกในระยะข้างหน้า

"คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ต่อปี ในการประชุม กนง.วันที่ 20 มิ.ย. 2561 นี้ แต่จุดสนใจของการประชุมในรอบนี้คงอยู่ที่การประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณนโยบายการเงินตึงตัวมากขึ้น กลายเป็นอีกตัวแปรที่สำคัญที่จะมีผลต่อความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนโลกในช่วงปลายปีนี้ หลังจากที่เฟดได้มีการส่งสัญญาณถึงโอกาสที่มีมากขึ้นในการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวม 4 ครั้งในปี 2561 นี้ ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรปมีการส่งสัญญาณถึงการเตรียมปรับลดขนาดของมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ในเดือนกันยายน 2561 ก่อนที่จะหยุดโครงการซื้อสินทรัพย์ในเดือนธันวาคม 2561 นี้ ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้สภาพคล่องในระบบตลาดการเงินมีโอกาสที่จะตึงตัวมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 และอาจสร้างความผันผวนรอบใหม่ได้ รวมทั้ง อาจส่งผลให้ประเทศที่มีเสถียรภาพต่างประเทศอ่อนแอมีโอกาสที่จะเผชิญกับความเสี่ยงที่จะประสบวิกฤติการเงินมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินที่มีความแตกต่างกันมากขึ้นระหว่างไทยและสหรัฐฯ น่าจะกดดันให้เกิดการไหลออกของเงินทุนจากไทย และกดดันให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าได้ คงต้องยอมรับว่าโครงสร้างของตลาดการเงินไทยนั้นมีความเกี่ยวเนื่องกับอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศมาก ดังนั้น ในสถานการณ์ที่ทิศทางของการดำเนินนโยบายการเงินของไทยและสหรัฐฯ เกิดขึ้นในจังหวะที่ไม่สอดประสานกัน อาจจะส่งผลให้สมดุลในตลาดการเงินเปลี่ยนไป และเกิดความบิดเบือนในตลาดการเงิน โดยหากสภาพคล่องดอลลาร์ฯ ในตลาดไทยปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินบางตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งความไม่สมดุลดังกล่าวอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของการใช้เครื่องมือทางการเงินและอาจเปิดช่องให้เกิดกิจกรรมในการเก็งกำไรเกิดขึ้นได้ อันจะเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงิน

หากพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยยังคงรักษาระดับการฟื้นตัวในเกณฑ์ที่ดีเหมือนในช่วงที่ผ่านมา กนง. อาจจะมีการส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินล่วงหน้า ซึ่งน่าจะช่วยให้ตลาดการเงินสามารถปรับตัวเพื่อลดผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงให้มีน้อยที่สุด ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่าด้วยพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมามีพัฒนาการปรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายที่เป็นปกติมากขึ้นย่อมมีความเหมาะสม โดยการส่งสัญญาณถึงโอกาสที่การดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าภายใต้เงื่อนไขที่โมเมนตัมการฟื้นตัวยังสามารถประคองตัวในเกณฑ์ที่ดีในระยะข้างหน้า จะช่วยให้ภาคเศรษฐกิจจริงมีเวลาปรับตัวในการรับมือกับทิศทางของการดำเนินนโยบายการเงินที่คงจะตึงตัวมากขึ้นในระยะข้างหน้า อีกทั้ง ยังเป็นการกระตุ้นให้ตลาดมีการประเมินความเสี่ยงใหม่อีกครั้ง อันน่าจะช่วยลดทอนผลกระทบเชิงลบให้เหลือน้อยที่สุด หาก กนง. ตัดสินใจปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยป้องกันความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินอย่างฉับพลัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ