SCB EIC ชี้สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนกระทบมูลค่าการค้าและห่วงโซ่อุปทานโลก แต่กระทบส่งออกไทยจำกัดคาดปีนี้ยังโตได้ 7.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 18, 2018 17:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า ความตึงเครียดทางการค้าสหรัฐฯ-จีนเพิ่มขึ้น หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศว่าจะเตรียมเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มอีกมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากทางการจีนตอบโต้ หลังจากที่มีการประกาศภาษีสำหรับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ารวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ออกมาแล้ว ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ก็ยังประกาศว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการเก็บภาษีเพิ่มเติมสำหรับสินค้าจีนอีกมูลค่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากจีนมีการตอบโต้ ซึ่งจะทำให้สินค้าจีนที่ถูกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ นั้นมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้น 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยหากเกิดขึ้นจริงก็จะยิ่งสร้างความตึงเครียดทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้นจนอาจนำไปสู่การทำสงครามการค้าได้

อนึ่ง เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2561 รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศรายชื่อสินค้านำเข้าจากจีนที่จะถูกเก็บภาษีนำเข้า (import tariff) ที่อัตรา 25% สืบเนื่องมาจากการตรวจสอบการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตามมาตรา 301 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ (Trade Act of 1947) โดยมีสินค้าจีนที่จะเริ่มถูกเก็บภาษีตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2018 มูลค่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวน 818 รายการ และสินค้าจีนมูลค่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกจำนวน 284 รายการที่จะเริ่มถูกเก็บภาษีหลังจากนั้น รวมจำนวนสินค้าทั้งสิ้น 1,102 รายการ ที่มูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

และในวันเดียวกัน ทางการจีนได้ออกมาตอบโต้โดยการประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในมูลค่าและอัตราเดียวกันที่ 25% และจะเริ่มบังคับใช้ในวันเดียวกันกับที่สหรัฐฯ จะเก็บภาษีจากจีน มูลค่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวน 545 รายการ และจะมีการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มหลังจากนั้น หากสหรัฐฯ ยังเดินหน้าขึ้นภาษีต่ออีก มูลค่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกจำนวน 114 รายการ รวมจำนวนสินค้าทั้งสิ้น 659 รายการ ที่มูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี ในภาคเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลายส่วนยังมีความกังวลด้านผลกระทบที่จะตกสู่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ เอง เนื่องจากถ้าหากมีการเพิ่มรายชื่อสินค้าอีกกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก็มีความเป็นไปได้ที่สินค้าอุปโภคบริโภคหลายชนิดจะถูกรวมอยู่ในสินค้าที่ถูกเก็บภาษีด้วย ซึ่งจะมีผลให้อัตราเงินเฟ้อของสินค้าสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้นได้ในระยะต่อไปได้

การเก็บภาษีนำเข้าในรอบนี้ของสหรัฐฯ ยิ่งสร้างความกังวลว่ามาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆ ที่เคยประกาศไว้จะตามมาได้อีกในอนาคต ถึงแม้จะมีการเจรจาระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ไปแล้วก่อนหน้านี้และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ก็ยังเคยประกาศว่าจะชะลอ (on hold) การเก็บภาษีไว้ก่อน แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่เป็นผล เพราะประธานาธิบดีทรัมป์ยังคงเดินหน้าเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนต่อไปตามที่ประกาศไว้ตั้งแต่ต้น นอกจากนี้ มาตรการเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมที่เคยยกเว้นให้กับประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างแคนาดา เม็กซิโก และสหภาพยุโรป ก็ได้ยกเลิกการยกเว้นไปในที่สุด แสดงให้เห็นว่าประธานาธิบดีทรัมป์ยังมีทีท่าต้องการเดินหน้าการกีดกันทางค้าเพื่อลดการขาดดุลทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อไป

สำหรับมาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆ ที่อาจสร้างความกังวลและยังต้องจับตาในระยะต่อไป ได้แก่ 1) มาตรการควบคุมการลงทุนจากจีน (investment restriction) ซึ่งก็สืบเนื่องมาจากการสอบสวนตามมาตรการ 301 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ (Trade Act of 1947) เช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทจากจีนเข้าไปลงทุนหรือซื้อบริษัทในสหรัฐฯ เพื่อให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีโดยง่าย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะประกาศมาตรการดังกล่าวในวันที่ 30 มิถุนายน 2561 นี้ และ 2) มาตรการเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วน โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ได้มีคำสั่งให้กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ตรวจสอบการนำเข้ารถยนต์ รถบรรทุก และส่วนประกอบยานยนต์ โดยใช้มาตรา 232 ว่าด้วยเรื่องความมั่นคงของชาติของกฎหมาย Trade Expansion Act 1962 ซึ่งเป็นมาตราเดียวกับที่ใช้ขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมในช่วงที่ผ่านมา และมีแผนที่จะเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ที่อัตรา 25% หากพบว่าภาวะการค้าในอุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐฯ ในปัจจุบัน ก่อให้เกิดความเสียเปรียบต่อสหรัฐฯและกระทบกับความมั่นคงของชาติ ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศผลการสืบสวนได้ช่วงต้นปี 2562 เพื่อพิจารณาการเก็บภาษีนำเข้าต่อไป

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่รุนแรงขึ้นอาจกระทบต่อมูลค่าการค้าและห่วงโซ่อุปทานโลกได้ อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงต่อการส่งออกไทยยังคงจำกัดในปีนี้ เนื่องจากสินค้าหลายชนิดที่จะถูกเก็บภาษีทั้งจากสหรัฐฯ และจีนเป็นสินค้าที่ใช้ในอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของหลายประเทศ โดยการประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าขั้นกลางที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาจกระทบห่วงโซ่อุปทานของสินค้าดังกล่าว อาทิ การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ที่จะมีการออกแบบและผลิตชิพจากสหรัฐฯ ก่อนถูกส่งไปทดสอบและบรรจุในจีน และจะถูกส่งกลับเข้ามาในสหรัฐฯ อีกครั้ง ซึ่งหากมีการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าดังกล่าวก็อาจทำให้ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบและต้องปรับเปลี่ยนแผนการผลิต และยังมีสินค้าอื่นๆ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกัน ซึ่งหากสงครามการค้ารุนแรงขึ้นและเป็นระยะเวลานานจนมีผลต่อต้นทุนการผลิตอย่างมีนัยสำคัญ ก็อาจทำให้ผู้ผลิตต้องปรับเปลี่ยนแผนการผลิตหรือนำเข้า โดยอาจผลิตในประเทศมากขึ้นและทำให้มูลค่าการค้าสินค้าขั้นกลางของโลกลดลงบ้าง

สำหรับไทยแล้ว SCB EIC มองว่าจะได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยถึงแม้ไทยจะอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ และจีนในหลายสินค้า แต่สินค้าที่จะได้รับผลกระทบก็ยังมีสัดส่วนมูลค่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการส่งออกโดยรวมทั้งหมดของไทย โดยเฉพาะความเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมที่อยู่ในนโยบาย Made in China 2025 ซึ่งเน้นไปที่สินค้าไฮเทคยังมีความเข้นข้นต่ำ และผู้ส่งออกไทยก็ยังมีการกระจายสินค้าไปยังตลาดส่งออกอื่นๆ ส่งผลให้ SCB EIC มองว่าการส่งออกของไทยในปี 2561 จะยังขยายตัวได้สูงราว 7.5%YOY


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ