นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิช ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ความเห็นผ่าน Facebook กรณีไม่มีผู้เข้าประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกกะเฮิรตซ์(MHz) ว่า ที่มาที่ไปของเรื่องนี้คือ กสทช. กำหนดราคาประมูลตั้งต้นของคลื่น 1800 MHz รอบนี้สูงเกินไป เพราะไปกำหนดให้เท่ากับราคาชนะการประมูลคราวที่แล้ว แทนที่จะคิดราคาประมูลตั้งต้นขึ้นใหม่ โดยคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจ และเงื่อนไขตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างที่เคยทำมาโดยตลอด
กสทช. ใช้ราคาชนะประมูลรอบที่แล้วเมื่อปี 56 มาเป็นราคาประมูลตั้งต้นของรอบใหม่นี้ แน่นอนว่า คงไม่มีผู้ประกอบการรายไหนมาร่วมประมูลด้วย เพราะสภาพตลาดสื่อทีวีได้เปลี่ยนไปมากจากการถูกสื่อออนไลน์ป่วนอย่างแรง
"ผมไม่เคยเห็นใบอนุญาตของผู้ชนะการประมูลรอบที่แล้วว่า มีเงื่อนไขดังกล่าวจริงหรือไม่ และเขียนไว้อย่างไร แต่เมื่อได้ฟังเรื่องดังกล่าวแล้วก็ตกใจ เพราะหากเป็นความจริงแล้วก็หมายความว่า ระบบการกำกับดูแลโทรคมนาคมของประเทศไทยโดย กสทช. นั้นพิลึกกึกกือและไร้มาตรฐานโดยสิ้นเชิง อย่างไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน มีอย่างที่ไหนครับ เอาราคาของการประมูลคราวที่แล้ว มากำหนดราคาตั้งต้นของการประมูลครั้งนี้ โดยไม่มีการแจ้งให้ผู้ร่วมประมูลคราวที่แล้วทราบล่วงหน้าก่อนเลย"
ผลของเงื่อนไขพิลึกนี้ก็คือ ผู้ชนะการประมูลคลื่น 1800 MHz รอบที่แล้วทั้งสองราย จะได้เปรียบผู้ชนะการประมูลคลื่น 1800 MHz รอบนี้อย่างแน่นอน หากการประมูลเกิดขึ้น เพราะจ่ายค่าประมูลเท่ากันหรือต่ำกว่า แต่ได้คลื่นไปใช้ก่อนถึงกว่า 2 ปี ทำให้แย่งส่วนแบ่งตลาดมาได้มากมาย จึงไม่แปลกใจที่ผู้ประกอบการเหล่านี้เรียกร้องให้กำหนดราคาประมูลรอบนี้ไว้สูง
หากมีการประกาศเงื่อนไขพิลึกแบบนี้ล่วงหน้าให้รู้ทั่วกัน ผู้ที่ออกจากการประมูลคลื่นรอบที่แล้วไปก่อน ก็อาจจะสู้ต่อไป ไม่ยอมแพ้เร็วขนาดนี้ก็ได้
อีกเรื่องคือ การให้มี "การเยียวยา" ตามใจตน โดยไม่ได้ประกาศล่วงหน้าอีกเช่นเดียวกัน ซึ่งทำให้ถูกมองได้ว่า เลือกปฏิบัติกับผู้ประกอบการแบบเลือกที่รักมักที่ชัง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจาก "สุ้มเสียง" ของ เลขาธิการ กสทช. ที่พูดหลังรู้ว่า ไม่มีใครมาร่วมประมูล
"น่ามหัศจรรย์ใจอยู่นะครับว่า นานาประเทศต่างใช้การประมูลคลื่นเพื่อสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม แต่ประเทศเรากลับสามารถทำให้การประมูลกลายเป็นเครื่องมือสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการบางรายได้"