BBL พร้อมหนุนผู้ประกอบการไทยขยายลงทุนในอาเซียน เผยการปล่อยสินเชื่อในตปท.เติบโตดีมาก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 19, 2018 18:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไชยฤทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวในงาน AEC Business Forum 2018 จับเทรนด์ Rising City, Rising Business หนุนผู้ประกอบการไทยก้าวสู่ตลาดอาเซียน ช่วง Rising City, Rising Business ว่า ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ให้ความสนใจเข้าไปลงทุนมาก ได้แก่ เมียนมา และเวียดนาม โดยในส่วนของเมียนมา จะเป็นการเข้าไปลงทุนเกี่ยวกับการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภค เนื่องจากประชาชนเมียนมามีความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าไทย ส่วนผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม จะเป็นการลงทุนในธุรกิจประเภทสิ่งทอ เนื่องจากธุรกิจสิ่งทอในเวียดนามมีต้นทุนและราคาที่ยังสามารถแข่งขันได้

สำหรับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารกรุงเทพในต่างประเทศ พบว่ามีการเติบโตที่ดีมาก โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อในประเทศอินโดนีเซีย ที่พบว่าภาคเอกชนที่ส่วนใหญ่มีความต้องการสินเชื่อเพื่อไปลงทุนด้านวัสดุก่อสร้าง โดยธนาคารกรุงเทพมีเครือข่ายการบริการที่แข็งแกร่ง ครอบคลุม 9 ใน 10 ประเทศอาเซียน โดยมี 16 สาขา อย่างไรก็ดี ธนาคารยังไม่มีนโยบายที่จะเปิดสาขาในต่างประเทศเพิ่มเติม แต่จะใช้สาขาเดิมที่มีอยู่พัฒนาศักยภาพ และเสนอการบริการให้กับลูกค้าอย่างครบวงจร

"สินเชื่อในต่างประเทศเติบโตได้ดี ยังไม่นับลาวและกัมพูชา ก็มีเอกชนไทยเข้าไปลงทุนที่นั่นเยอะมาก โดยเราเป็นธนาคารที่อยู่มานาน และได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าในประเทศที่เราไปทำธุรกิจ"นายไชยฤทธิ์ กล่าว

ด้านดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ๊อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า อาเซียนต้องเร่งปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสู่ยุค 4.0 และเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้ง Big Data และ AI โดยคาดว่ามูลค่าของเศรษฐกิจดิจิทัลใน 6 ชาติสมาชิกอาเซียนจะขยายตัวอย่างรวดเร็วจาก 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 68 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า โดยชาติสมาชิกต้องมีเป้าหมายพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล คือ 1.การสร้างโอกาสให้ประชาชนในอาเซียนได้เข้าถึงบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต และดิจิทัลอย่างทั่วถึง และมีคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในอาเซียน 300 ล้านคนจาก 365 ล้านคน

2.ส่งเสริมให้ธุรกิจ SMEs ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างนวัตกรรมและเสริมสร้างการแข่งขัน 3. การกำหนดกรอบนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและเป็นไปตามมาตรฐานสากล และ 4.สมาชิกอาเซียนต้องมีการทำงานร่วมกันให้มากขึ้น สร้างแพลตฟอร์ม เพื่อให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างประสิทธิภาพร่วมกัน

ทั้งนี้ โดยนับตั้งแต่การก่อตั้งอาเซียนในปี 1967 อาเซียนได้มีความก้าวหน้าในทางเศรษฐกิจและพัฒนาการด้านความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนเป็นอย่างมาก การประเมินทางสถิติในเบื้องต้น GDP ของอาเซียนในปี 2017 อยู่ที่ประมาณ 2.77 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นประมาณ 5.3% ต่อปี หากสามารถรักษาระดับการเติบโตนี้ได้ต่อไป อาเซียนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของโลกภายในกลางศตวรรษนี้ และมุมมองต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ยังคงมีทิศทางที่ดี ด้วยโครงสร้างประชากรในอาเซียนที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับระบบดิจิทัล การขยายตัวของคนชั้นกลาง และมีนโยบายที่สอดคล้องกับการเติบโตเข้ามาสนับสนุน

"เชื่อมั่นว่าอาเซียนจะได้รับประโยชน์อย่างยิ่งในยุคดิจิทัล แต่ขณะเดียวกันเราก็ควรต้องปรับตัว และเตรียมความพร้อมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลเช่นกัน เพราะกำลังจะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และเปิดโอกาสใหม่สำหรับภาคธุรกิจจำนวนมาก รวมถึงการเร่งแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อขจัดอุปสรรคที่จะการพัฒนาของเศรษฐกิจดิจิทัล"เลขาธิการอาเซียนกล่าว

พร้อมระบุว่า แม้จะมีวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีเกิดขึ้นมากมาย แต่คนก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ และมองถึงประโยชน์โดยรวมของสังคมที่จะร่วมกันนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เหล่านี้มาช่วยจัดการกับความท้าทายต่างๆ ซึ่งอาเซียนยังต้องเผชิญร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน สุขภาพ และการศึกษาความเปลี่ยนแปลง ของสภาพอากาศ ทำให้เชื่อมั่นว่าการถือกำเนิดของเศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นศักราชใหม่สำหรับอาเซียนที่จะนำไปสู่การค้นหาแนวคิดใหม่เพื่อการรวมกลุ่มกันภายในภูมิภาคมีความยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ