น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ประเมินสถานการณ์การตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. โดยพบว่าไทยจะได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าบางประเภทไปขายทดแทนสินค้าที่สหรัฐฯ และจีนปรับขึ้นภาษีระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 0.42% ของมูลค่าการส่งออกปี 60
ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้ประกาศเก็บภาษีเข้าสินค้าจีน 1,102 รายการ มุ่งสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับนโยบาย Made in China 2025 และจีนตอบโต้มาตรการดังกล่าวในทันทีด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ 649 รายการ พุ่งเป้าสินค้าสำคัญที่มีนัยทางการเมือง กลุ่มการเกษตร ยานยนต์ และสินค้าประมง โดยมาตรการของทั้ง 2 ประเทศมีมูลค่าการค้าใกล้เคียงกันประมาณ 50,000 ล้านเหรียญฯ
สำหรับการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ และจีนครั้งนี้ แบ่งเป็นสินค้า 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1 ฝั่งสหรัฐฯ 818 รายการ และฝั่งจีน 545 รายการ มีอัตราการเก็บภาษีเพิ่ม 25% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 34,000 ล้านเหรียญฯ มีผลบังคับใช้พร้อมกันวันที่ 6 ก.ค.61 และกลุ่ม 2 ฝั่งสหรัฐฯ 284 รายการ และฝั่งจีน 114 รายการ คิดเป็นมูลค่า 16,000 ล้านเหรียญฯ โดยสหรัฐฯ ยังอยู่ในกระบวนการทำประชาพิจารณ์ ก่อนที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) จะประกาศรายการสินค้าและมาตรการที่จะใช้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ผลจากการตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ 2 อันดับแรกของโลก ย่อมส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการค้าโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และบั่นทอนบรรยากาศการค้าการลงทุนโลก โดยในระยะสั้น ตลาดเงินและตลาดทุนมีแนวโน้มผันผวน จากความกังวลต่อสถานการณ์และความไม่แน่นอนด้านนโยบายของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งอาจส่งผลต่อการค้าการลงทุนด้วย โดยอาจทำให้เกิดการชะงักงันในการสั่งซื้อสินค้า และผู้ส่งออกในจีนและสหรัฐฯ อาจเริ่มมองหาตลาดอื่นทดแทน
"แม้ว่าสถานการณ์อาจยังคงตึงเครียดในระยะ 2–3 เดือนข้างหน้า แต่ในที่สุด ทั้ง 2 ฝ่ายอาจมีท่าทีผ่อนคลายข้อกีดกันทางการค้าลง หากประชาชน เกษตรกร หรือภาคธุรกิจ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากสินค้าขึ้นราคา หรือต้นทุนสูงขึ้น เพราะจีนได้คัดเลือกกลุ่มสินค้าเป้าหมายที่เป็นฐานเสียงโดยตรงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จึงอาจถูกกดดันให้ทบทวนมาตรการขึ้นภาษีก็เป็นได้" ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ
ส่วนผลกระทบต่อไทยนั้น สนค. ยังไม่พบการส่งออกสินค้าที่เข้าข่ายถูกขึ้นภาษีระหว่างกันทะลักเข้ามาไทยสูงขึ้นกว่าปกติ หากมีสัญญาณผิดปกติ กระทรวงพาณิชย์มีมาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการได้ทันทีอยู่แล้ว ซึ่ง สนค.จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ และเตรียมแผนรับมือในเร็วๆ นี้ รวมทั้งจะผลักดันให้ไทยกำหนดยุทธศาสตร์ทางการค้าใหม่ โดยจะต้องเร่งสร้างพันธมิตรทางการค้าการลงทุนเพิ่มมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงในการส่งออก หากตลาดส่งออกปัจจุบันมีปัญหา