ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนในประเด็นข้อพิพาททางการค้าโลกในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าไทยในเดือนพ.ค.61 ยังขยายตัวได้ในระดับสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ที่ 11.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่า 22,257 ล้านดอลลาร์ฯ หนุนให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ของปี 2561 เติบโต 11.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยการขยายตัวของการส่งออกสินค้าไทยในเดือนพ.ค.61 ได้ปัจจัยสนับสนุนมาจาก 1.การส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบที่มีมูลค่าสูงสุดในรอบ 21 เดือน และขยายตัว 25.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้อานิสงส์จากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก 2.ระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่พุ่งสูงในช่วงเดือนพ.ค.61 ช่วยหนุนการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก รวมถึงเคมีภัณฑ์ ให้ขยายตัวดีตามไปด้วย 3.ระดับราคาสินค้าข้าว และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าปีก่อน ช่วยประคองมูลค่าส่งออก แม้ปริมาณการส่งออกจะหดตัวค่อนข้างมาก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอาจจะส่งผลพลอยได้บางส่วนมายังสินค้าส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2561 แต่ท้ายที่สุด คาดว่าผลกระทบทางลบอาจจะเกิดขึ้นในปี 2562 ผ่านปริมาณการค้าโลกที่ลดลง อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์บานปลายไปมากกว่าการขึ้นภาษีในรอบนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะพลิกกลับมาเป็นลบได้ ขึ้นอยู่กับรายการสินค้าที่จะเก็บภาษีนำเข้าเพิ่ม
ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 2561 อีก 7 เดือน การส่งออกสินค้าของไทยน่าจะมีมูลค่าเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 เดือนแรกที่ 20,806 ล้านดอลลาร์ฯ แต่จากฐานที่สูงในปีก่อนหน้า จึงทำให้อัตราการขยายตัวมีแนวโน้มผ่อนแรงลง อย่างไรก็ตาม จากการประเมินในเบื้องต้นถึงผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนนั้น ไทยอาจจะได้รับผลพลอยได้บางส่วนจากการขึ้นภาษีนำเข้าของทั้งสองประเทศดังกล่าว โดยมองว่าการส่งออกพลาสติกและแผงวงจรไฟฟ้าไปตลาดสหรัฐฯ จะได้อานิสงส์บวกบ้างแต่ไม่มาก เนื่องจากกำลังการผลิตอยู่ในระดับสูงแล้ว
"สถานการณ์สงครามการค้าดังกล่าวยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ซึ่งก็ยังมีความเสี่ยงที่สถานการณ์จะบานปลายไปมากกว่านี้ จึงยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามเพื่อประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด" เอกสารเผยแพร่ระบุ