นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานกรรมการ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ในโอกาสที่ บสย. หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มีบทบาทสำคัญด้านการค้ำประกันสินเชื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งทุน ได้ดำเนินงานครบรอบ 25 ปี จึงได้จัดงาน ครบรอบ 25 ปี บสย. ภายใต้แนวคิด "SUCCESS TOGETHER" เพื่อประกาศผลสำเร็จการดำเนินงานค้ำประกันสินเชื่อ ตลอดระยะเวลา 25 ปี โดยมียอดอนุมัติค้ำประกันสะสม ณ 31 พฤษภาคม 2561 กว่า 7 แสนล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อจำนวน 324,000 ราย
โครงการค้ำประกันสินเชื่อ ที่ประสบความสำเร็จ ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs สำหรับผู้ประสบภัย, โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs Transformation Loan และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ ที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากสถาบันการเงิน และรัฐบาลให้การสนับสนุนต่อเนื่อง คือ โครงการค้ำประกันสินเชื่อแบบ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 1-6 (PGS 1- 6) ที่ช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อ เติบโตอย่างมั่นคง ลดการพึ่งพาเงินนอกระบบ ภายใต้ยุทธศาตร์การดำเนินงานของ บสย. ที่มุ่งเน้นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับคู่พันธมิตร
ทั้งนี้ บสย. และสถาบันการเงินของรัฐ ยังได้ผนึกกำลังร่วมกัน ดำเนินโครงการตอบสนองแผนงานของรัฐบาล ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs จัดให้มีพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อดำเนินโครงการ ให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อกับผู้ประกอบการ SMEs รวม 2 โครงการคือ 1. โครงการสินเชื่อประชารัฐ ระหว่าง ธนาคารกรุงไทย (KTB) กับ บสย. และ 2. โครงการสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยความร่วมมือระหว่าง ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย กับ บสย. เพื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อ โดยมี บสย.ค้ำประกัน
นอกจากนี้ทางสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้นำเสนอผลการศึกษา เรื่อง "ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จากการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน" ระบุว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2552 - 2558 งบประมาณที่รัฐจัดสรรให้ บสย. นำมาใช้ในการค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ทุกๆ 1 บาท ส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจสูงกว่า 4.5 เท่าของวงเงินค้ำประกัน ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม รวม 1.74 ล้านล้านบาท และพบว่า การค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. ยังช่วยให้สินเชื่อที่สถาบันการเงินปล่อยให้ SMEs เกิดการขยายตัว 1.7 เท่าของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ เกิดการจ้างงานจำนวน 3.6 ล้านราย และมีเงินภาษีกลับเข้าสู่รัฐกว่า 2.25 แสนล้านบาท ในด้านสัดส่วนความคุ้มค่าทางการเงิน หรือ Cost-Benefit Ratio จะมีค่าสัมประสิทธิ์ เท่ากับ 0.009 ซึ่งหมายถึง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการค้ำประกัน 100 บาท เกิดจากการใช้ต้นทุนรัฐเพียง 90 สตางค์
"ก้าวต่อไปของ บสย. มุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาความเข้มแข็งทางการเงิน และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ SMEs สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งปรับกลยุทธ์การดำเนินงานให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ THAILAND 4.0 ก้าวสู่ยุค Digital Economy สู่การพัฒนานวัตกรรมด้านการค้ำประกันสินเชื่อ ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ" นายสุรชัย กล่าว