นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการยกระดับธรรมาภิบาลและความเข้มแข็งของการบริหารจัดการความเสี่ยงของสถาบันการเงินว่า ธปท.ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ให้ทันสมัยให้สถาบันการเงินมีความพร้อมรองรับสภาพแวดล้อมทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการให้บริการทางการเงินมากขึ้น ในขณะที่ระบบสถาบันการเงินไทยมีความเข้มแข็งและมีเสถียรภาพ
แนวนโยบายครั้งนี้ประกอบด้วยการยกระดับธรรมาภิบาลของสถาบันการเงินและดูแลให้สถาบันการเงินมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี หลักเกณฑ์ด้านธรรมาภิบาลของสถาบันการเงินมีสาระสำคัญ คือ ให้สถาบันการเงินมีโครงสร้างคณะกรรมการที่ดีและมีคุณสมบัติที่เหมาะสม และใช้กลไกตลาดตรวจสอบการดำเนินงานของสถาบันการเงิน ดังนี้
1. ยกระดับคุณสมบัติและความเหมาะสมของกรรมการและผู้บริหารระดับสูง กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ เพื่อให้มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง เพิ่มเงื่อนไขการตรวจสอบคุณสมบัติกรรมการและกระบวนการทบทวนคุณสมบัติกรรมการผู้จัดการอย่างสม่ำเสมอ และมีกรรมการที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างน้อย 1 คน เพื่อให้เท่าทันความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี
2. ดูแลโครงสร้างการกำกับดูแลความเสี่ยงและธรรมาภิบาล เพื่อให้คณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินบริหารจัดการความเสี่ยงขององค์กรได้เหมาะสม โดยให้สถาบันการเงินมีคณะกรรมการกำกับความเสี่ยงเป็นกลไกถ่วงดุล และสร้างวัฒนธรรมองค์กรในการดูแลความเสี่ยง
3. ปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลด้านธรรมาภิบาลในรายงานประจำปี ให้สถาบันการเงินเปิดเผยข้อมูลธรรมาภิบาลต่อสาธารณชนเพื่อให้มีกลไกตลาดช่วยในการกำกับดูแล
ด้านการยกระดับการจัดการและบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินให้เข้มแข็งและครบทุกมิตินั้น นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ธปท.ได้กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำแผนล่วงหน้ารองรับการจัดการดูแลแก้ไขปัญหา (recovery plan) ซึ่งเตรียมล่วงหน้าในภาวะปกติ เพื่อให้สถาบันการเงินมีแนวทางแก้ไขปัญหาทางการเงินด้วยตนเอง เป็นการยกระดับการบริหารความเสี่ยงที่ธนาคารพาณิชย์มีอยู่แล้วให้ครอบคลุมและครบทุกมิติ ซึ่งเป็นเครื่องมือให้ธนาคารพาณิชย์สามารถรับมือหากประสบปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันการณ์
แนวทางนี้เป็นการบริหารความเสี่ยงเพิ่มเติมจากแผนฉุกเฉินรูปแบบต่าง ๆ ที่มีอยู่ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์มีแนวทางที่ชัดเจนในการจัดทำแผนสอดคล้องกับแนวทางสากล เพื่อให้สามารถจัดการด้วยตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดโอกาสที่จะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ และเป็นการยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลของประเทศไทยเพื่อพร้อมรับการประเมินภาคการเงิน (Financial Sector Assessment Program: FSAP) ในไตรมาส 4/61 นี้ด้วย