นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) ครั้งที่ 3/49 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-11 กรกฎาคม 2561 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยมีเป้าหมายหลักในการผลักดันการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ค.ศ.2025 (AEC Blueprint 2025) และเร่งรัดการดำเนินการที่ต้องแล้วเสร็จในปีนี้ เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Minister: AEM) เนื่องจากเป็นการประชุมระดับ SEOM ครั้งสุดท้ายในปีที่สิงคโปร์เป็นประธานอาเซียน โดยมีประเด็นสำคัญที่จะมีการหารือและความสำเร็จที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการประชุม ดังนี้
1.ติดตามประเด็นที่สิงคโปร์ในฐานะประธานอาเซียนผลักดันให้สมาชิกอาเซียนร่วมกันดำเนินการให้สำเร็จในปี 2561 เช่น การสรุปความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน เพื่ออำนวยความสะดวกการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างสมาชิกอาเซียน การจัดทำความตกลงการค้าบริการอาเซียน (ATISA) ให้แล้วเสร็จ การสร้างเครือข่ายนวัตกรรมอาเซียน การจัดทำระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (ASEAN-wide Self-certification) การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) ให้ได้ครบ 10 ประเทศ ซึ่งไทยให้การสนับสนุนประเด็นที่สิงคโปร์ผลักดัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอำนวยความสะดวกทางการค้าเนื่องจากจะเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนของอาเซียน
2.ติดตามและเร่งรัดการดำเนินงานตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ค.ศ.2025 ในประเด็นสำคัญที่จะส่งผลต่อการขยายตัวของการค้าการลงทุนและการลดลงของอุปสรรคทางการค้า โดยเฉพาะแผนงานที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2561 เช่น การจัดทำ Guideline สำหรับประเมิน NTMs การลงนามในพิธีสารฉบับที่ 2 ภายใต้กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน (AFAFGIT) การลงนามความตกลงยอมรับร่วมสำหรับสินค้าอาหารสำเร็จรูป (MRA for Inspection and Certification Systems on Food Hygiene for Prepared Foodstuff Products) และการจัดทำข้อผูกพันเปิดตลาดบริการชุดที่ 10 ที่สมาชิกอาเซียนได้ตั้งเป้าหมายการลงนามพิธีสารเพื่ออนุวัติข้อผูกพันฯ ชุดที่ 10
3.เตรียมการสำหรับการประชุมคณะกรรมการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP-TNC) ครั้งที่ 23 ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 17-27 กรกฎาคม 2561 ณ กรุงเทพฯ
4.การขยายความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาค จะมีการประชุมร่วมกับประเทศคู่เจรจา รวม 10 การประชุม ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อาเซียน+3 ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ อินเดีย รัสเซีย สหรัฐ อาเซียน+8 และแคนาดา ในประเด็นที่สำคัญ เช่น
- ความคืบหน้าการดำเนินการตามแถลงการณ์อาเซียน-จีน ว่าด้วยความร่วมมือในการเสริมสร้างศักยภาพการผลิต และความร่วมมือในการเชื่อมโยงสาธารณูปโภคพื้นฐาน โครงการภายใต้ความร่วมมือ Belt and Road Initiative การให้ความช่วยเหลือของจีนเพื่อลดช่องว่างการพัฒนาของอาเซียน และแนวทางการแก้ไขปัญหาในประเด็นเหล็กและเหล็กกล้า
- การติดตามความคืบหน้าการจัดทำพิธีสารเพื่อผนวกเพิ่มเรื่องการค้าบริการและการลงทุนไว้ในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) และเวลาที่จะลงนามพิธีสารดังกล่าว
- ความคืบหน้าการดำเนินการตามความตกลงเขตการค้าเสรี อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) และการเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AEM-CER Consultations) ครั้งที่ 23 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์
- การจัดทำความร่วมมือทางเศรษฐกิจสาขาใหม่ระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ 4 สาขา ได้แก่ ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ มาตราฐานยานยนต์ เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร และการค้าดิจิทัล รวมทั้งหารือเกี่ยวกับโครงการความร่วมมือที่สหรัฐฯ สนับสนุนการบูรณาการทางเศรษฐกิจของอาเซียน
- ความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนงานส่งเสริมการค้าการลงทุน ค.ศ.2016-2020 ซึ่งมีเป้าหมายในการขยายการค้าการลงทุนระหว่างอาเซียนกับแคนาดาเป็นสองเท่าจากปี ค.ศ.2016 ที่ 12 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 24 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี ค.ศ.2020 และพิจารณาผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา (AEM-Canada Consultations) ครั้งที่ 7 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์
- ความคืบหน้าสถานะการดำเนินการตามแผนงานความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนอาเซียน-รัสเซียหลัง ปี ค.ศ.2017 และความคืบหน้าการจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่างอาเซียนกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเชีย (EEC)