นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า มูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2561 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่า 564,295 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.40% โดยเป็นการส่งออกมูลค่า 320,393 ล้านบาท ลดลง 1.53% และการนำเข้ามูลค่า 243,902 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.98% เกินดุลการค้ามูลค่า 76,491 ล้านบาท แยกเป็นการค้าชายแดนมูลค่า 463,869 ล้านบาท 4.18% เป็นการส่งออกมูลค่า 271,592 ล้านบาท ลดลง 2.62% การนำเข้ามูลค่า 192,277 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.59% เกินดุลการค้ามูลค่า 79,315 ล้านบาท และการค้าผ่านแดนมูลค่า 100,426 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% เป็นการส่งออกมูลค่า 48,801 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.03% นำเข้ามูลค่า 51,625 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.59% ขาดดุลการค้ามูลค่า 2,824 ล้านบาท
ทั้งนี้ การค้าชายแดนแยกเป็นรายประเทศ พบว่า การค้ากับมาเลเซียยังคงนำเป็นอันดับหนึ่ง มูลค่า 233,455 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% เป็นการส่งออกมูลค่า 121,078 ล้านบาท ลดลง 8.98% ตามมาด้วย สปป.ลาว มูลค่า 90,685 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.52% เป็นการส่งออกมูลค่า 55,939 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.03% นำเข้ามูลค่า 34,745 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.92% เมียนมา มูลค่า 81,036 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.47% เป็นการส่งออก 47,356 ล้านบาท ลดลง 2.96% นำเข้ามูลค่า 33,679 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.53% และกัมพูชา มูลค่า 58,693 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.51% เป็นการส่งออกมูลค่า 47,218 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.21% นำเข้ามูลค่า 11,475 ลดลง 10.96%
"การค้ากับเมียนมาขยายตัวสูงสุดถึง 9.47% เพราะการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นถึง 33.53% โดยเป็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ส่วนสปป.ลาว ก็มีการนำเข้าเพิ่มถึง 19.92% เป็นการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก ซึ่งไม่น่ากังวล เพราะนำเข้ามาใช้เป็นพลังงานของประเทศ และช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ที่น่าจับตา คือ ในด้านการส่งออกจากนี้ไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้อีก โดยเฉพาะส่งออกไปสปป.ลาว หลังมีการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเพิ่มขึ้นกว่า 20% จาก 9 แสนกีบ เป็น 1.1 ล้านกีบ ทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และยังมีการยกระดับจุดผ่อนปรนการค้าบ้านฮวก อ.ภูซาง จ.พะเยาให้เป็นจุดผ่านแดนถาวรแห่งใหม่ ทำให้เกิดเส้นทางขนส่งสินค้าที่สามารถลดระยะทางและต้นทุนการขนส่งสินค้าได้ ส่วนกัมพูชา ก็คาดว่าจะส่งออกได้เพิ่มขึ้น จากการที่กำลังซื้อของคนชั้นกลางดีขึ้น และยังมีการยกระดับจุดผ่อนปรนบ้านเขาดินเป็นจุดผ่านแดนถาวร ทำให้สามารถกระจายสินค้าของไทยจากจังหวัดสระแก้วไปยังจังหวัดพระตะบองได้สะดวกรวดเร็วขึ้น" นายอดุลย์กล่าว
สำหรับการค้าผ่านแดน พบว่ายังมีแนวโน้มเติบโตได้ดี โดยการค้าผ่านแดนไปยังเวียดนามมีมูลค่ามากที่สุด 34,257 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.63% เป็นการส่งออกมูลค่า 23,441 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.14% นำเข้า 10,814 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 81.92% รองลงมา คือ จีนตอนใต้ มูลค่า 33,494 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.90% เป็นการส่งออกมูลค่า 12,729 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.71% และนำเข้ามูลค่า 20,764 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.04% และสิงคโปร์ มูลค่า 32,676 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.61% เป็นการส่งออก 12,629 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.81% นำเข้า 20,045 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.55%
"การค้าผ่านแดนไปยังจีนตอนใต้มีการขยายตัวสูง ทั้งการส่งออกและนำเข้า เป็นเพราะสินค้าเกษตรไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง ซึ่งมีการขยายตัวสูงถึง 224% และยังได้รับผลดีจาก AQSIQ ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการอนุญาตการนำเข้าสินค้าเกษตรของจีนได้เพิ่มเติมรายชื่อสินค้าผลไม้ของไทยที่สามารถส่งออกเข้าสู่ประเทศจีนได้ 22 รายการ เมื่อต้นปี 2561 ทำให้การส่งออกสินค้าผลไม้ของไทยเติบโตอย่างมาก เช่น มังคุด ลำไยแห้ง ทุเรียน ส่วนใหญ่ผ่านทางด่านโย่วอี้กวาน ด่านผิงเสียง ด่านตงซิน ด่านผู่จ้าย เป็นต้น รวมทั้งยังอนุญาตให้ไทยส่งออกไก่สดแช่แข็งไปยังจีนได้ผ่านทางแม่น้ำโขงขึ้นไปท่าเรือกวนเหล่ยเพื่อจำหน่ายในมณฑลยูนนาน ทำให้ไทยส่งออกได้มากขึ้นด้วย" นายอดุลย์กล่าว
นายอดุลย์ กล่าวว่า สำหรับแผนงานและกิจกรรมที่จะนำมาใช้ผลักดันการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนในช่วงครึ่งปีหลัง 2561 นั้น วันที่ 28 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2561 จะมีการจัดงานหุ้นส่วนเศรษฐกิจชายแดนไทย-เมียนมา ที่จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผู้นำรัฐบาลท้องถิ่นภาคตะนาวศรีของเมียนมาและคณะ จะเดินทางเยือนจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยภายในงานจะมีการหารือระหว่างรัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ไทยกับมุขมนตรีและผู้แทนหน่วยงานภาครัฐของภาคตะนาวศรี อีกทั้งยังมีกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ คลินิคการค้าชายแดนสำหรับผู้ประกอบการ
ส่วนวันที่ 19-22 กรกฎาคม 2561 กรมฯ จะเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมการค้าชายแดนและมหกรรมการค้าภายใต้ IMT-GT และ BIMP-EAGA ครั้งที่ 4 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ ซึ่งเป็นงานระดับนานาชาติที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง 2 กรอบความร่วมมือภายในอนุภูมิภาค ได้แก่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย หรือ IMT-GT และกรอบความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจอาเซียนด้านตะวันออกบรูไน-อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ฟิลิปปินส์ หรือ BIMP-EAGA โดยภายในงานจะมีการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติจาก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์ รวมทั้งยังมีการจัดงานสัมมนาเกษตรนวัตกรรม สินค้าฮาลาล
นอกจากนี้ กรมฯ จะใช้ YEN-D Program หรือกิจกรรมสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นกลไกขับเคลื่อนการค้าและการลงทุน โดยวันที่ 16-18 กรกฎาคม 2561 ผู้ประกอบการ YEN-D ไทยจะมีกิจกรรม YEN-D Outgoing เยือนกรุงพนมเปญ เพื่อสานต่อและขยายความสัมพันธ์การค้าและการลงทุนกับประเทศกัมพูชา และในปีนี้ยังมีกิจกรรม YEN-D Frontier อีก 3 รุ่น คือ YEN-D Frontier สงขลา YEN-D Frontier หนองคาย และ YEN-D Frontier สระแก้ว
"กรมฯ มั่นใจว่า กิจกรรมที่ได้จัดขึ้น จะช่วยผลักดันให้มูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนในปีนี้ เข้าใกล้เป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ 1.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% ได้อย่างแน่นอน" นายอดุลย์กล่าว