นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน 2561 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าว 26 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 1,522 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 320 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน
"ในเดือนมิถุนายน 2561 จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลงจากเดือนก่อน 4 ราย คิดเป็น 13% ในขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 892 ล้านบาท คิดเป็น 141% เนื่องจากเดือนมิถุนายน 2561 มีต่างชาติมาลงทุนในธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง เช่น บริการให้กู้ยืมเงิน บริการรับค้ำประกันหนี้ และบริการออกแบบ จัดหา ติดตั้งเครื่องมือสำหรับโรงกลั่นน้ำมัน เป็นต้น" นางกุลณี กล่าว
สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่ 1. ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม จำนวน 11 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 985 ล้านบาท ได้แก่ บริการรับค้ำประกันหนี้ บริการให้กู้ยืมเงิน บริการจัดเก็บเหล็กม้วนและอลูมิเนียม บริการจัดเก็บสินค้าอุปโภค บริโภค เพื่อรอจัดส่งไปต่างประเทศ การบริหารจัดการด้านการจัดซื้อจัดหาชิ้นส่วนที่ใช้สำหรับผลิตรถยนต์ โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์
2. ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 7 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 61 ล้านบาท ได้แก่ การซ่อมแซมและบำรุงรักษานาฬิกาข้อมือและนาฬิกาแขวน บริการให้เช่าพื้นที่อาคารบางส่วน บริการฝึกอบรมด้านการจัดการคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัย บริการขายต่อบริการที่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. บริการให้ใช้ช่วงสิทธิในการใช้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ บริการรับชำระเงินคืนที่เกิดจากผิดสัญญาว่าจ้าง โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศฮ่องกง สิงคโปร์ และญี่ปุ่น
3. ธุรกิจบริการเป็นคู่สัญญาภาคเอกชน จำนวน 4 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 438 ล้านบาท ได้แก่ บริการขุดเจาะปิโตรเลียม บริการออกแบบทางวิศวกรรมจัดหาก่อสร้างเครื่องมือที่ใช้ในหน่วยงานเพิ่มออกเทน บริการออกแบบ จัดหา เครื่องมือสำหรับโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บริการให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการทำงานของระบบที่ใช้สำหรับการบริหารเงินสำรองและที่ใช้สำหรับดำเนินการนโยบายทางการเงิน โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศสิงคโปร์ สาธารณรัฐเกาหลี และฮ่องกง
4. ธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่ง จำนวน 4 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 38 ล้านบาท ได้แก่ การค้าปลีกก๊าซอุตสาหกรรม การค้าส่งผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เครื่องสำอาง และอุปกรณ์แต่งหน้า การค้าส่งผลิตภัณฑ์ยารักษาโรคในมนุษย์ การค้าส่งผลิตภัณฑ์ดูแลและรักษาสุขอนามัยบริเวณจุดซ่อนเร้น โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศอินเดีย เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี
นางกุลณี กล่าวว่า การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการทางเทคนิคการตรวจสอบและประเมินปัญหาการบริหารความเสี่ยงประเภทเรือขนส่ง องค์ความรู้เกี่ยวกับการซ่อมแซมเครื่องนาฬิกาขั้นสูง รวมทั้งองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี และมาตรฐานการผลิตวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตอาหาร และเครื่องสำอาง เป็นต้น
อนึ่งในเดือนมกราคม – มิถุนายน 2561 คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาต จำนวน 140 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 7,023 ล้านบาท ในเดือนมกราคม – มิถุนายน 2560 คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาต จำนวน 136 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 3,743 ล้านบาท ซึ่งในปี 2560 ทั้งปี (มกราคม - ธันวาคม) คนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้น 270 ราย และมีเงินลงทุนทั้งสิ้น 7,302 ล้านบาท