นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการบริหารจัดการงานจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง งานบำรุงรักษา งานกู้ภัย และงานจัดการจราจร บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนพระประแดง-บางแค ช่วงพระประแดง-ต่างระดับบางขุนเทียน ระหว่างกรมทางหลวง กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)
ปัจจุบันมีปริมาณรถใช้ทางสายนี้รวมประมาณ 3.7 ล้านคัน/เดือน ถือว่าหนาแน่นซึ่งในอนาคต กรมทางหลวงและ กทพ.จะต้องดำเนินโครงการต่อขยายจากบริเวณทางแยกต่างระดับบางขุนเทียนเพื่อแก้ปัญหาจราจรต่อเนื่อง โดย กทพ. มีโครงการทางด่วน พระราม 3 -ดาวคะนอง-วงแหวนฯ ระยะทาง 18.7 กม. ส่วนกรมทางหลวงมีโครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี–ปากท่อ (ถนนพระราม 2) จากแยกบางขุนเทียน – วังมะนาว ซึ่งจะเร่งให้ดำเนินการเสร็จพร้อมๆ กันประมาณปี 2564 เพื่อให้แก้ปัญหาได้เป็นระบบ ของเส้นทางลงสู่ภาคใต้
นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2554 เห็นชอบให้กทพ.เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดเก็บรายได้ค่าผ่านทาง งานบำรุงรักษาทาง งานกู้ภัย และงานจัดการจราจร บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ถนนสายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนพระประแดง-บางแค ช่วงพระประแดง-ต่างระดับบางขุนเทียน เพื่อนำเข้าบัญชีเงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทางของกรมทางหลวง จากความร่วมมือดังกล่าว ขณะนี้ ทั้ง 2 หน่วยงานได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจะเริ่มจัดเก็บธรรมเนียมค่าผ่านทางแทนกรมทางหลวง ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไป
โดยคิดอัตราค่าธรรมเนียมผ่านทางเป็นไปตามกฎกระทรวง พ.ศ. 2555 ได้แก่ รถ 4 ล้อ คิดค่าธรรมเนียมผ่านทาง 15 บาท รถ 6 ล้อ คิดค่าธรรมเนียมผ่านทาง 25 บาท และ รถมากกว่า 6 ล้อ คิดค่าธรรมเนียมผ่านทาง 35 บาท ตามลำดับ
"กรมทางหลวงจะจ้างกทพ.จัดเก็บค่าผ่านทาง ค่าดูแลรักษาต่างๆ ในวงเงินค้าจ้างประมาณ 2.7 ล้านบาทต่อเดือน โดยในเอ็มโอยู กำหนดให้มีการปรับปรุงค่าจ้างทุกๆ 3 ปี โดยจะพิจารณาที่ปริมาณจราจรที่เปลี่ยนไป เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น คิดจากปริมาณจราจร ที่ใช้ทางจากด่านอีเกีย มาถึงก่อนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 22.5 กม. ที่เป็นของกทพ.และจากแม่น้ำเจ้าพระยา มาถึงด่านบางขุนเทียน 14.5 กม. คิดเป็นสัดส่วนที่ใช้ของทล. ที่ 22%" นายธานินทร์ กล่าว
ในส่วนของเงินรายได้จากค่าผ่านทางที่จัดเก็บได้ทั้งหมด กทพ.จะนำส่งให้กรมทางหลวงเพื่อเข้าบัญชีเงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทางที่กระทรวงการคลังเป็นผู้เก็บรักษา และจะนำมาใช้ในการบำรุงรักษาทาง สะพาน ตลอดจนระบบอำนวยความปลอดภัยด้านการจราจรต่างๆ รวมทั้งใช้สำหรับก่อสร้างขยายโครงข่ายมอเตอร์เวย์สายทางอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งจะเป็นการช่วยลดภาระงบประมาณแผ่นดิน รักษาวินัยทางการเงินการคลังภาครัฐ พร้อมทั้งเป็นการส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ของประเทศ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
สำหรับทางยกระดับบน ถนนพระราม 2 จากแยกบางขุนเทียน – วังมะนาว นายธานินทร์ กล่าวว่า กรมทางหลวงจะดำเนินการช่วงบางขุนเทียน-มหาชัยก่อน ระยะทางประมาณ 10 กม. วงเงินงบประมาณ 10,500 ล้านบาท โดยจะดำเนินการเริ่มก่อสร้างต้นปี 2562 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี ขณะนี้การออกแบบรายละเอียดเสร็จแล้ว จะออกประกวดราคาในเดือนต.ค.นี้ โดยแบ่งงานก่อสร้างเป็น 3 ตอน ค่าก่อสร้าง 4,000 ล้านบาท, 4,000 ล้านบาท และ 2,500 ล้านบาท ตามแผน ส่วนต่อจาก มหาชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 16 กม. บรรจุในแผน PPP ซึ่งจะดำเนินการคู่ขนาน คาดดำเนินการได้ในปี 2562
นายสุทธิศักดิ์ วรรธนวินิจ รองผู้ว่าการฝ่ายกฎหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า ขณะนี้กทพ.ได้ออกประกาศเชิญชวน โครงการทางด่วน พระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนฯ ระยะทาง 18.7 กม. มูลค่าลงทุนรวม 31,244 ล้านบาท แล้ว ใช้เงินจากลงทุนจากการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี