นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือการวิจัยเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับสังคมสูงวัย ระหว่าง สศค. และวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัย โดยจะมีการศึกษา วิเคราะห์ และแลกเปลี่ยนข้อมูลสังคมผู้สูงอายุระหว่างกัน อาทิ การศึกษาปัญหาเชิงโครงสร้างด้านแรงงานที่เกิดจากสังคมผู้สูงอายุต่อการย้ายถิ่นฐานแรงงานและผลิตภาพแรงงานของไทย การวิเคราะห์การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของไทย กรณีของสังคมผู้สูงอายุ และภาระทางการคลังของสังคมผู้สูงอายุ เพื่อการเสนอแนะนโยบายและมาตรการทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
"ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังพยายามหาแนวทางในการดูแลประเทศที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการให้คนไทยเข้าถึงการออมผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่พยายามปรับหลักเกณฑ์ให้คนไทยเข้าถึงการออมเพื่อวัยเกษียณมากขึ้น ขณะที่กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดการออมเพื่อวัยเกษียณอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่การวิจัยร่วมกันจะทำให้เกิดการวิเคราะห์ข้อมูลด้านประชากรศาสตร์ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถออกมาตรการในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มเติม ที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนขึ้นได้" นายสุวิชญ กล่าว
พร้อมระบุว่า ขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรเพื่อสนับสนุนการมีบุตร โดยให้สามารถนำค่าใช้จ่ายของบุตรคนที่ 2 มาหักลดหย่อนภาษีเพิ่มได้อีก 3 หมื่นบาทต่อปี ถือเป็นอีกมาตรการหนึ่งเพื่อสนับสนุนให้มีบุตรเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นกำลังแรงงานและเป็นการขยายฐานภาษีในอนาคต ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการรองรับสังคมผู้สูงวัยด้วย รวมถึงได้มีการออกมาตรการภาษีเพื่อจูงใจให้เอกชนจ้างงานแรงงานวัยเกษียณอายุ ซึ่งยอมรับว่ายังไม่ได้รับการตอบรับมากนัก ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการประชาสัมพันธ์ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ
ทั้งนี้ จากข้อมูลของวิทยาลัยประชากรศาสตร์ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 11-12 ล้านคน หรือ 17% ของประชากรทั้งหมด และในปี 2578 ไทยจะมีผู้สูงอายุเป็น 30.2 ล้านคน ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของโลกที่ปัจจุบันมีผู้สูงอายุทั้งหมด 1 พันล้านคน และจะเพิ่มเป็น 1.6 พันล้านคน หรือ 17.8% ของประชากรโลกในปี 2578 ซึ่งจากการวิจัยพบว่าค่าใช้จ่ายที่ใช้เลี้ยงดูผู้สูงอายุ เฉลี่ย 5 หมื่นบาทต่อคน โดยเฉลี่ยปัจจุบันคนวัยแรงงาน 8 คน ดูแลผู้สูงอายุ 1 คน แต่ในอนาคตจะเหลือคนวัยแรงงาน 2 คนจะดูแลผู้สูงอายุ 1 คนเท่านั้น