ดังนั้น การเดินหน้าของอุตสาหกรรมไฟฟ้าในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกต้องรองรับการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียน คือ การสร้างความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าต้องมีความยืดหยุ่นสามารถเริ่มเดินเครื่องได้รวดเร็ว ส่วนในระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้าจะต้องพัฒนาสู่ระบบ Smart Grid ทำงานผ่านรีโมทมอนิเตอร์ (Remote Monitor) สามารถเรียกดูข้อมูลและสั่งการจากศูนย์ควบคุมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันที ต้องบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานภายนอกทำให้สามารถคาดเดาหรือพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตได้
ส่วนพลังงานหมุนเวียนที่ยังมีข้อจำกัดเรื่องความไม่เสถียร ควรพัฒนาในรูปแบบของการผสมผสานระหว่างพลังงานหมุนเวียนกับเชื้อเพลิงหลัก (RE Hybrid Firm) เพื่อลดความผันผวน สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามระยะเวลาสัญญาที่กำหนด เช่น โซลาร์เซลล์กับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ พลังงานลมกับเซลล์เชื้อเพลิง เชื้อเพลิงชีวมวลกับโซลาร์เซลล์ ซึ่งจะกลายเป็นทางเลือกสำคัญสำหรับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในอนาคต ควบคู่กับการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานเพื่อช่วยให้การจ่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีเสถียรภาพ ซึ่ง กฟผ.ได้นำร่องโครงการติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานแล้วจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ขนาด 4 เมกะวัตต์-ชั่วโมง สถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี ขนาด 21 เมกะวัตต์-ชั่วโมง และสถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ขนาด 16 เมกะวัตต์-ชั่วโมง
การพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าจึงต้องอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรมต่อประเทศชาติและประชาชน โดยคำนึงถึงความสมดุล มีระบบไฟฟ้าที่มั่นคงแต่มีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับภาพรวมของสังคมไทย สามารถบริหารจัดการโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งผู้ผลิต ประชาชน และหน่วยงานกำกับดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีค่าไฟฟ้าที่สามารถแข่งขันได้เพื่อสร้างโอกาสในการลงทุนและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน