นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ยังคงประมาณการการเติบโตของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของ SME ในปี 2561 ไว้ที่ 5.0-5.5% เนื่องจากธุรกิจในภาคบริการ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ตัวแทนธุรกิจการเดินทาง ธุรกิจจัดนำเที่ยวและการท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้งกิจกรรมการบริการด้านสุขภาพ ในด้านภาคการผลิต อุตสาหกรรมผักและผลไม้กระป๋อง ผลิตภัณฑ์ในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่มน้ำผลไม้, ผลไม้กระป๋องเป็นกลุ่มสาขาที่มีอัตราการเติบโตของกำไร รายได้ และ GDP ที่สูง และยังมีแนวโน้มการเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะส่งผลถึงการเติบโตของ SMEs ในสาขาก่อสร้างและสาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
สำหรับในไตรมาสที่ 1/61 GDP SME ขยายตัว 6.0% โดยมีมูลค่า 1.74 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 42.8% ของ GDP รวมทั้งประเทศ โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการค้าและภาคการบริการ โดยเฉพาะในสาขาการบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ได้แก่ ธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร และธุรกิจขนส่ง ถึงแม้จะชะลอตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน แต่ยังคงขยายตัวได้ดีที่ 12.8% และ 7.1% ตามลำดับ
ด้านมูลค่าการส่งออกของ SME ใน 5 เดือนแรกของปี 2561 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่า 25,467.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 24.5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และขยายตัว 7.8% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ตลาดส่งออกสำคัญอยู่ในกลุ่มตลาดอาเซียน มีมูลค่า 7,576 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 6.0% คิดเป็นสัดส่วน 29.7% รองลงมาคือ ประเทศจีน มีมูลค่า 3,019 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 11.9% สำหรับสินค้าส่งออกที่สำคัญของ SME อยู่ในหมวดอัญมณีและเครื่องประดับ มีมูลค่า 4,413 ล้านดอลลาร์ หดตัวลง 1.5% เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกมีความผันผวนมาก ขณะที่มูลค่าการส่งออกพลอยและเครื่องประดับแท้ทำด้วยเงินและทองเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เมื่อหักทองคำออก จะทำให้หมวดอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) มีการขยายตัว 9.7% ส่วนการส่งออกสินค้าสำคัญที่มีการขยายตัวได้ดี คือ หมวดพลาสติก และของทำด้วยพลาสติก มีมูลค่า 2,346 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 23.0% รองลงมาคือหมวดยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัว 19.0%
ผู้อำนวยการ สสว.กล่าวว่า สถานการณ์การส่งออกมีการขยายตัวทุกตลาด สาเหตุหลักมาจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างชัดเจน อีกทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ และตลาดยุโรปขยายตัวได้ดีจากการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าอย่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นที่ฟื้นตัวดีขึ้น และเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดีของประเทศกลุ่มอาเซียน
ส่วนด้านการนำเข้าของ SME ใน 5 เดือนแรกของปี 2561 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่า 31,378.64 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 30.7% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด ขยายตัว 18.6% จากช่วงเวลาเดียวกันปี 2560 ตลาดนำเข้าสำคัญอยู่ในกลุ่มตลาดอาเซียน มีมูลค่า 8,009 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 13.2% คิดเป็นสัดส่วน 25.7% รองลงมาคือ ประเทศจีน มีมูลค่า 7,668 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 16.1% เมื่อพิจารณาตามโครงสร้างการนำเข้า พบว่า เป็นกลุ่มวัตถุดิบ และสินค้ากึ่งสำเร็จรูป มีสัดส่วน 40.3% ขยายตัว 18.3% กลุ่มสินค้าทุน มีสัดส่วน 24.9% ขยายตัว 18.2% กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคมีสัดส่วน 16.7% ขยายตัว 17.6% และกลุ่มสินค้านำเข้าอื่นๆ มีสัดส่วน 18.1% ขยายตัว 20.7%
โดยสถานการณ์การนำเข้าของ SME มีการขยายตัวทุกตลาดสำคัญ และทุกประเภทสินค้าสำคัญ อีกทั้งโครงสร้างนำเข้าก็ปรับตัวสูงขึ้นทุกกลุ่มสินค้า เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวจากการบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนภาครัฐ อีกทั้งค่าเงินบาทยังแข็งตัวต่อเนื่องและยังมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำ ส่งผลดีต่อการนำเข้า แต่จะเห็นได้ว่า SME ไทยนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนสูงสุด 25.6%
ทั้งนี้ ในปี 2560 มีผู้ประกอบการจำนวนทั้งสิ้น 3,046,793 ราย มีอัตราการขยายตัว 1.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 99.8% ของจำนวนวิสาหกิจทั้งประเทศ โดยเป็นจำนวนวิสาหกิจขนาดเล็ก (SE) จำนวนทั้งสิ้น 3,028,495 ราย และมีจำนวนวิสาหกิจขนาดกลางจำนวน 18,298 ราย เมื่อจำแนกตามประเภทการจัดตั้งกิจการ สามารถจำแนกได้ 3 ประเภท ได้แก่ นิติบุคคลมีจำนวนทั้งสิ้น 675,633 ราย คิดเป็นสัดส่วน 22.2% ของจำนวน SME รวมทั้งประเทศส่วนบุคคลและอื่นๆ มีจำนวน 2,285,731 ราย คิดเป็นสัดส่วน 75.0% และวิสาหกิจชุมชน มีจำนวน 85,429 ราย คิดเป็นสัดส่วน 2.8%
ด้านของการจ้างงาน SME ในปี 2560 มีจำนวนการจ้างงาน 12,155,647 คน คิดเป็นสัดส่วน 82.2% ของการจ้างงานรวมทั้งประเทศ เมื่อจำแนกตามประเภทการจัดตั้งกิจการ พบว่าการจ้างงานนิติบุคคลมีจำนวนการจ้างงาน 7,139,347 คน คิดเป็น 58.7% ของการจ้างงาน SME และมีการจ้างงานส่วนบุคคลและอื่นๆ มีจำนวน 5,016,300 ราย คิดเป็นสัดส่วน 41.3%