คลัง เผยฐานะการคลัง 8 เดือนปีงบ 61 รัฐนำส่งรายได้เกือบ 1.5 ล้านลบ. เงินคงคลังสิ้นพ.ค.กว่า 3 แสนลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 27, 2018 12:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึง ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (ต.ค.60 - พ.ค.61) ว่า รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 1,490,389 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว จำนวน 72,685 ล้านบาท (คิดเป็น 5.1%) ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz (ใบอนุญาต 4G) การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและการจัดเก็บภาษีรถยนต์สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว

ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 2,034,150 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว จำนวน 1,531 ล้านบาท (คิดเป็น 0.1%) ประกอบด้วยรายจ่ายปีปัจจุบัน จำนวน 1,879,585 ล้านบาท คิดเป็น 61.6% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย (3,050,000 ล้านบาท) สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 0.8% และรายจ่ายจากงบประมาณปีก่อน จำนวน 154,565 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 7.8%

สำหรับรายจ่ายปีปัจจุบันจำนวน 1,879,585 ล้านบาท ประกอบด้วยรายจ่ายประจำจำนวน 1,643,764 ล้านบาท (คิดเป็น 68.1% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำหลังโอนเปลี่ยนแปลง จำนวน 2,414,058 ล้านบาท) สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 1.4% และรายจ่ายลงทุน จำนวน 235,821 ล้านบาท (คิดเป็น 37.1% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนหลังโอนเปลี่ยนแปลง จำนวน 635,942 ล้านบาท) ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 3.2%

ดุลการคลังรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดขาดดุล จำนวน 568,247 ล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลเงินงบประมาณ จำนวน 543,761 ล้านบาท และขาดดุลเงินนอกงบประมาณ จำนวน 24,486 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุมาจากการไถ่ถอนตั๋วเงินคลังสุทธิ จำนวน 26,711 ล้านบาท

ทั้งนี้ รัฐบาลได้บริหารเงินสดให้สอดคล้องกับความต้องการใช้เงินโดยการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 361,655 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (หลังการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล) ขาดดุล จำนวน 206,592 ล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 317,166 ล้านบาท

"ฐานะการคลังในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 อยู่ในระดับที่เข้มแข็ง โดยเงินคงคลังมีจำนวนทั้งสิ้นกว่าสามแสนล้านบาท เพียงพอสำหรับรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง" นายพรชัย กล่าว

สำหรับในเดือนพ.ค. 61 รัฐบาลเกินดุลเงินสด จำนวน 12,460 ล้านบาท โดยเป็นการเกินดุลเงินงบประมาณ จำนวน 7,917 ล้านบาท และเป็นการเกินดุลเงินนอกงบประมาณ จำนวน 4,543 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2561 มีจำนวน 317,166 ล้านบาท

ในเดือนพ.ค. 61 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลัง จำนวน 197,491 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว จำนวน 19,463 ล้านบาท (คิดเป็น 9.0%) เนื่องจากในปีที่แล้วมีเม็ดเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บในเดือนเมษายน 2560 บางส่วนเหลื่อมมาในเดือนพฤษภาคม 2560

รัฐบาลมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 189,574 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว จำนวน 20,202 ล้านบาท (คิดเป็น 9.6%) โดยเป็นรายจ่ายปีปัจจุบัน จำนวน 172,405 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 14.7% ประกอบด้วยรายจ่ายประจำ จำนวน 142,717 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 16.6% และรายจ่ายลงทุน จำนวน 29,688 ล้านบาท ต่ำกว่า เดือนเดียวกันปีที่แล้ว 3.7% และการเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณปีก่อน จำนวน 17,169 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 120.8%

การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญในเดือนนี้ ได้แก่ เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 20,989 ล้านบาท รายจ่ายชำระหนี้ของกระทรวงการคลัง จำนวน 5,925 ล้านบาท งบรายจ่ายอื่นของกระทรวงกลาโหม จำนวน 4,201 ล้านบาทและเงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำนวน 1,869 ล้านบาท

ดุลการคลังรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด จากรายได้นำส่งคลังและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลข้างต้น ส่งผลให้ดุลเงินงบประมาณในเดือนพฤษภาคม 2561 เกินดุลจำนวน 7,917 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล จำนวน 4,543 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (ก่อนกู้) เกินดุล จำนวน 12,460 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 26,837 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (หลังกู้ชดเชยการขาดดุล) เกินดุล จำนวน 39,297 ล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 317,166 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ